วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบรรลุธรรมของพระสารีบุตร


การบรรลุธรรมของพระสารีบุตร
พระสารีบุตรนั้นท่านบรรลุโสดาบันตั้งแต่ฟังธรรมครั้งแรกจากพระอัสชิ ที่ท่านถามพระอัสชิว่า ครูของท่านสอนอย่างไร พระอัสชิตอบว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้นด้วย พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้” แค่ฟังคำพูดไม่กี่คำนี้ท่านก็บรรลุธรรมขั้นต้นแล้ว
หลังออกบวชแล้วท่านได้ตามพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฏ วันที่ท่านบรรลุอรหัตตผลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ในถ้ำนั้นกับท่าน ต่อมาทีฆนขะปริพาชกได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดทีฆนขะปริพาชก พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฏางค์ (ข้างหลัง) พระสารีบุตรได้ฟังธรรมนั้นและพิจารณาไปตามเนื้อความของพระธรรมเทศนานั้นตลอดเวลา ครั้นจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนทีฆนขะปริพาชกหลานของท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เนื้อความโดยย่อของพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นเรียกว่า ทีฆนขสูตร มีความโดยย่อดังนี้

สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ความเห็นของพราหมณ์พวกแรกใกล้ความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งต่าง ๆ ความเห็นของพราหมณ์พวกที่สองใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งต่าง ๆ ความเห็นของพราหมณ์พวกสุดท้ายใกล้เคียงกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง ใกล้ข้างความเกลียดชังในของบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาว่า ถ้าเราจักถือมั่นความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว กล่าวว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าไม่จริง ก็จะต้องผิดจากคน ๒ พวกที่มีความเห็นไม่เสมอกับตน ครั้นถือผิดกันก็ต้องวิวาทกัน จากนั้นก็จะกลายเป็นความพิฆาตแล้วติดตามด้วยการเบียดเบียนกันต่าง ๆ นานา ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้วย่อมละความเห็นนั้นเสียด้วยและไม่ให้ความเห็นอื่นเกิดขึ้นด้วย”
เมื่อทรงแสดงโทษของความถือมั่นอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงต่อไปด้วยอุบายวิธีที่เป็นเหตุให้ไม่ถือมั่นว่า
“อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดจากบิดามารดา เติบโตมาเพราะข้าวสุกและขนมสด ต้องคอยอบรมกันกลิ่นเหม็น และต้องขัดสีอยู่เป็นนิตย์ มีอันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา จึงควรที่จะพิจารณาให้เห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง ทนได้ยาก เป็นของถูกเสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของชำรุดทรุดโทรม ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เมื่อพิจารณาเห็นได้อย่างนี้ ย่อมละความรักใคร่กระวนกระวายในกามเสียได้
 
อัคคิเวสสนะ เวทนา (ความรู้สึก) มี ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ และอุเบกขา(ไม่สุขไม่ทุกข์) เวทนา ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน คราวใดบุคคลเสวยสุขเวทนา คือ รู้สึกเป็นสุข คราวนั้นก็ไม่เสวยทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา คราวใดบุคคลเสวยทุกขเวทนา คือ รู้สึกเป็นทุกข์ คราวนั้นก็ไม่เสวยสุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา คราวใดบุคคลเสวยอุเบกขาเวทนา คือ ไม่รู้สึกสุขไม่รู้สึกทุกข์ คราวนั้นก็ไม่เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา แต่เวทนาทั้ง ๓ นี้เป็นอย่างเดียวกัน ตรงที่ว่าไม่เที่ยงมีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดา”
ข้อพิจารณา
๑.พระสารีบุตรนับว่าเป็นผู้มีปัญญาอันเลิศ แต่กลับบรรลุธรรมช้ากว่าบริวารของตน ซึ่งก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนฉลาด คนเก่ง คนที่มีความสามารถสูง มักเป็นคนเชื่ออะไรยาก ต้องใครครวญพิจารณาจนเข้าใจอย่างแท้จริงหรือเห็นประจักษ์แก่ตนเองก่อนจึงค่อยเชื่อ อีกประการหนึ่งคนเก่งมักถือดี มีความมั่นใจตนเองสูง จนเกิดเป็นทิฏฐิมานะสูงซึ่งแก้ยาก ความเป็นผู้คิดมากและมานะมากนี้เองเป็นเหตุของการบรรลุธรรมช้าอย่างหนึ่ง
๒.ความปรารถนาสูงเป็นอีกประการหนึ่งของความล่าช้าในการทำกิจการทั้งปวง ผู้ที่มุ่งหวังผลสำเร็จในกิจการใด ๆ ก็ตาม ถ้าต้องการสิ่งที่ดีที่สุด สวยที่สุด เด่นที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ย่อมต้องใช้เวลา ท่านพระสารีบุตรท่านตั้งความปรารถนาไว้ในอดีตชาติ คือ ท่านมีความปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งถือว่าเป็นเลิศกว่าสาวกทั้งปวง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านบรรลุธรรมช้า
๓.การบรรลุธรรมของพระสารีบุตรนั้นแปลกว่าคนอื่น ท่านฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแก่คนอื่น คือ ทีฆนขปริพาชก แต่ท่านฟังไปด้วยและพิจารณาตามอย่างตั้งใจ ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม เข้าทำนอง “ครูพักลักจำ”
๔.การดูหนังดูละครหรือดูอะไรก็ตาม ผู้มีปัญญาย่อมได้ประโยชน์จากการดูนั้น พระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง ดังคำโบราณกล่าวว่า “ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัว” หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องการพิจารณาอสุภกรรมฐานก็เป็นลักษณะการดูอย่างมีปัญญา แม้ว่าซากศพจะเป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว แต่ถ้าผู้ดูดูอย่างมีปัญญาก็สามารถนำให้จิตหลุดพ้นจนสามารถบรรลุธรรมได้

1 ความคิดเห็น: