วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบรรลุธรรมของพระอานนท์


การบรรลุธรรมของพระอานนท์
เจ้าชายอานนท์ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายศากยะท่านอื่น ๆ คือ เมื่อบวชได้ไม่นานเจ้าชายองค์อื่น ๆ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คงเหลือที่พระอานนท์กับพระเทวทัตเท่านั้นที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ สำหรับพระอานนท์ได้บรรลุธรรมเบื้องต้นคือพระโสดาบันเท่านั้น ส่วนพระเทวทัตได้แค่อภิญญาแต่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ
การบรรลุธรรมของพระอานนท์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ทั้ง ๆ ที่พระอานนท์นั้นเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าที่สุดในฐานะที่เป็นพุทธอุปฐากคอยรับใช้ใกล้ชิด  ท่านได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้ามากที่สุด และทรงจำพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องรอจนพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน 
พระอานนท์ยืนเกาะสลักประตูร่ำไห้
ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิิพพาน
ในคืนวันก่อนที่จะบรรลุธรรมนั้น เป็นวันก่อนจะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ แต่เนื่องจากท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล ในคืนนั้นท่านได้เพียรพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติธรรมเพื่อจะบรรลุธรรมให้ได้ แต่จะใช้ความเพียรพยายามเท่าไรก็ไม่สามารถจะให้บรรลุธรรมได้ จนเวลาใกล้รุ่งท่านเห็นว่าได้เพียรพยายามมาอย่างหนักตลอดคืนควรที่จะพักผ่อน ท่านจึงนั่งลงแล้วเอนหลังลงเพื่อจะพักผ่อนอิริยาบถ ในขณะที่ท่านเอนกายลงนั้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผลในระหว่างการเอนกายลงนอนนั้นเอง
ข้อพิจารณา
๑.พระอานนท์ทำหน้าที่พุทธอุปฐากอย่างสมบูรณ์ที่สุดจนได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ถือเป็นแบบอย่างของผู้ทำหน้าที่รับใช้ผู้ใหญ่ควรศึกษาประวัติของท่านแล้วนำเอาแบบอย่างมาปฏิบัติ
๒.การบรรลุธรรมของพระอานนท์มีลักษณะที่แปลกกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ คือท่านบรรลุธรรมในระหว่างการเอนกายลงนอนเพราะต้องการพักผ่อน ด้วยปลงใจว่าไม่ควรหักโหมในการปฏิบัติมากนัก จึงเป็นแง่คิดแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้รู้จักปรับสภาพการปฏิบัติของตนให้เหมาะสม หรือที่ใช้กันในทางพระคือการปรับอินทรีย์ ไม่ให้หักโหมนักหรือไม่ให้ย่อหย่อนนัก
๓.การบรรลุธรรมของพระอานนท์ ถ้ามองในอีกมุมมองหนึ่ง คือ ท่านได้พยายามจนที่สุดแล้ว จนเข้าใกล้เวลาของการทำสังคายนา คงเห็นว่าท่านคงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงปล่อยวางโดยคิดว่าจะบรรลุอรหัตตผลหรือไม่ก็ชั่งพักผ่อนดีกว่า จิตที่ปล่อยวางความอยากบรรลุธรรมนั่นเอง คือ ความปล่อยวางตัวสุดท้ายที่ต้องละทิ้งไป เปรียบเหมือนผู้ที่อาศัยแพข้ามมาถึงฝั่งแล้วก็ทิ้งแพไว้ที่ริมฝั่งนั้นเดินตัวเปล่าขึ้นฝั่งไป ไม่ต้องกังวลอยู่กับแพนั้นอีก แม้แพนั้นจะถือว่ามีคุณได้อาศัยให้มาถึงฝั่งก็ตาม ภาวะของการบรรลุธรรมคือการปล่อยวางเสียทุกสิ่งทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล
๔.การเป็นผู้มีความรู้ในพระธรรมหรือทรงจำพระธรรมได้มากมายขนาดไหนก็ตาม ถ้าขาดการปฏิบัติเสียแล้วก็มิอาจจะบรรลุธรรมได้ อย่างพระอานนท์เป็นต้น ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฏก แต่เมื่อไม่มีเวลาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ดังนั้นในการปฏิบัติธรรมจะต้องหาเวลาและหยุดภาระกิจอื่น ๆ ที่ขวางต่อการปฏิบัติให้หมดเสียก่อน แล้วหาสถานที่อันเหมาะสมแล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องจึงจะบรรลุธรรมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น