วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบรรลุธรรมของพระสีวลี


การบรรลุธรรมของพระสีวลี
ประวัติของท่านพระสีวลีแปลกตรงที่กล่าวว่า ท่านอยู่ในท้องของมารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ดังนั้นเมื่อท่านคลอดจึงสามารถทำงานได้เท่ากับเด็ก ๗ ขวบ ในประวัติกล่าวไว้ว่าวันที่ท่านคลอด พระบิดาของท่านได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามาเสวยพระกระยาหารที่ในวังพร้อมด้วยพระสาวก ในวันนั้นเด็กชายสีวลีได้ช่วยแม่เลี้ยงพระด้วย พระสารีบุตรมองเห็นก็เกิดความเอ็นดูสนทนาด้วย จนเกิดความคุ้นเคยกันอย่างดี ในวันที่ ๗ เป็นวันสุดท้ายของการเลี้ยงพระ พระสารีบุตรได้ชวนเด็กชายสีวลีให้บวชด้วย โดยกล่าวว่า “เธอทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์มานาน ออกบวชไม่ดีกว่าหรือ” เด็กน้อยสีวลำตอบว่า “ถ้ากระผมสามารถบวชได้ก็จะบวช” พระนางสุปปวาสาเห็นบุตรชายสนิทกับพระสารีบุตรก็ดีพระทัย เมื่อพระสารีบุตรทูลให้ทราบว่ากำลังชวนลูกชายให้ไปบวช พระนางก็ดีพระทัยและอนุญาตให้พระโอรสได้บวชตามความประสงค์

พระสารีบุตรจึงทำการบวชให้ ในเบื้องต้นได้สอนให้ท่านกำหนดพิจารณา ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ ประการ คือ พิจารณา เกสา(ผม) โลมา(ขน) นะขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตะโจ(หนัง) อันเป็นเบื้องต้นของการบวชที่พระอุปัชฌาย์จะต้องสอนก่อนการบวชทุกครั้ง ท่านได้พิจารณาถึงความทุกข์ที่ต้องทรมานอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในขณะที่กำลังปลงผมท่านได้พิจารณาไปตามที่พระอุปัฌชาย์สอน เมื่อปลงผมจุกที่ ๑ เสร็จ ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล ปลงผมจุกที่ ๒ เสร็จ ท่านได้บรรลุสกทาคามิผล ปลงจุกผมที่ ๓ เสร็จ ท่านได้บรรลุอนาคามิผล และปลงผมจุกสุดท้ายเสร็จท่านก็บรรลุอรหัตตผล ซึ่งนับว่าท่านได้บรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็วแค่ปลงผมเสร็จท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ข้อพิจารณา
๑.พระสีวลีท่านบวชเมื่ออายุยังน้อยมากคือแค่ ๗ ขวบ และเมื่อก่อนบวชท่านได้รับการสอนตจปัจกกรรมฐาน และด้วยทุกข์ที่ท่านได้ทนทรมานอยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลานาน ท่านสามารถนำคำสอนของพระอุปัฌชาย์ไปพิจารณาจนสามารถบรรลุอรหัตตผลในเวลาแค่ปลงผมเสร็จ นั่นแสดงให้เห็นว่าวัยก็ดี ความรู้ก็ดี ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ขอแต่เพียงรู้จักพิจารณาด้วยปัญญาให้ถูกต้องก็สามารถบรรลุธรรมได้ สมดังพระธรรมคุณว่า “อกาลิโก” คือไม่ขึ้นอยู่กับเวลาในการปฏิบัติ
๒.การกำหนดพิจารณาสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้นหรือกายก็ตาม ถ้าผู้ปฏิบัติหมั่นฝึกให้เป็นนิสัย โดยกำหนดรู้ให้เท่าทันอารมณ์ที่อ่อนไหวไปตามสัมผัสนั้น ๆ แล้วน้อมจิตพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ในไม่ช้าก็จะเข้าใจสภาวธรรม การกำหนดรู้ให้เท่าทันในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่ากับได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง โดยเฉพาะหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดรู้จิตที่อ่อนไว้ไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ธรรมชาติจิตจะปรุงแต่งไปตามอดีตบ้าง อนาคตบ้างทำให้เกิดความรู้นึกยินดีหรือยินร้าย สติที่เข้าไม่กำหนดรู้จะเป็นตัวกั้นกระแสของกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น เป็นการตัดวงจรของปฏิจจสมุปบาทไม่ให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นั่นก็คือการดับทุกข์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น