วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ธรรมเทศนาหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ


ธรรมเทศนา
แนะแนวเจริญสติ 
โดย
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ 




 

ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม


ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่คำพันธ์  จันทูปโม
หลวงปู่คำพันธ์  จันทูปโม

 ปฐมวัยจากประเทศลาวสู่แผ่นดินไทย
             เดิมโยมพ่อโยมแม่เป็นคนบ้านปากซี    ใกล้กับเมืองหลวงพระบางประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ชักชวนเพื่อนบ้าน ๓ ครอบครัว พากันเอาเรือคนละลำล่องหาจับปลาตามลำน้ำโขงบ้าง ตามแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง เช่น น้ำงึม ทางฝั่งประเทศลาวล่องเรือมาเรื่อยๆ เมื่อจับปลาแล้วทำเป็นปลาตากแดดบ้างทำปลาร้าบ้าง แล้วขายให้หมู่บ้านต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง เมื่อขายหมดแล้วก็จับปลาอีก เมื่อเต็มลำเรือแล้วก็นำไปขายทำอย่างนี้เรื่อยมาจนล่องมาถึงแม่น้ำสงคราม แล้วล่องมาตามลำน้ำสงครามจนถึงหมู่บ้านดงพระเนาว์ ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ก็ได้อยู่ในบ้านนี้ตลอดมาเพราะตามลำน้ำนี้มีปลานานาชนิดชุกชุมมาก ชีวิตได้อาศัยอยู่ในเรือตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ทางราชการได้มาตั้งกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นที่บ้านดงพระเนาว์จึงได้ขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินกับชาวบ้านตั้งแต่บัดนั้นมา ต่อมาอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หมู่บ้านดงพระเนาว์จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า บ้านศรีเวินชัย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ครอบครัวใหญ่
            วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง เวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นวันเกิดโยมบิดาชื่อ พ่ออ้วน โยมมารดาชื่อ แม่ทุมมา เป็นลูกคนที่ ๖ ในจำนวน ๗ คน ซึ่งมีรายชื่อดังนี้
๑. นางคำมี สีแพง (เสียชีวิตแล้ว)
๒. นางบัวสี นนทจันทร์ (เสียชีวิตแล้ว)
๓. นางจันที เหมื้อนงูเหลือม (เสียชีวิตแล้ว)
๔. นายจูมศรี ปทุมมากร (เสียชีวิตแล้ว)
๕. นายทองดี ปทุมมากร(ยังมีชีวิตอยู่)
๖.พระคำพันธ์ จนฺทูปโม (ปทุมมากร)
๗. เด็กชายสุวรรณ ปทุมมากร (เสียชีวิตแล้ว)
คนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เกิดอยู่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกนั้น ๔ คนลงมาเกิดอยู่บ้านศรีเวินชัย

โยมพ่อจากลาลูกจึงออกบรรพชา
                เมื่ออายุ ๙ ปี โยมพ่อได้เสียชีวิต เหลือแต่โยมแม่กับลูกๆ โยมแม่ต้องทำงานหนักในการเลี้ยงลูกทุกคน ส่วนพี่สาวทั้ง ๓ คนนั้น ได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ที่ยังเหลือก็อยู่ในความเลี้ยงดูของแม่ต่อไป ในหมู่บ้านศรีเวินชัยสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน จึงเป็นเหตุให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โยมแม่ได้นำไปฝากอยู่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัยกับระอาจารย์พุฒ เมื่อท่องคำขอบวชได้แล้วพระอาจารย์พุฒพาไปบวช โดยทางเรือ ขณะนั้นน้ำในแม่น้ำสงครามขึ้นเต็มฝั่ง ท่านก็พาไปบ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม บวชกับ พระครูปริยัติสิกขกิจเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นคู่กับสามเณรจันดี ที่อยู่วัดศรีสงคราม ขณะนั้นได้จำพรรษาที่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย


ความฝันในวันบวช
                      การบวชครั้งนี้โยมมารดามุ่งหมายให้บวชแทนคุณโยมบิดาที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อบวชในวันแรกนั้นตอนกลางคืนฝันว่าได้เข้าไปบ้าน เห็นหีบศพของโยมบิดาตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน จึงคิดว่าไม่สมควรตั้งที่นั้น ควรจะเอาขึ้นตั้งไว้บนบ้าน เมื่อคิดแล้วก็ลงมือดึงหีบศพโยมพ่อขึ้นมาตรงกลางบ้าน ในความฝันดึงขึ้นคนเดียว ทะลุพื้นขึ้นมาวางไว้บนบ้านได้สำเร็จ พอตื่นจากฝันจึงคิดทบทวนความฝันว่า ทำไมเราจึงแข็งแรงขนาดนั้นดึงหีบศพคนเดียวขึ้นได้อย่างง่ายดาย จึงคิดว่าฝันเป็นเช่นนี้คงนิมิตแสดงให้รู้ว่า การบวชครั้งนี้ช่วยโยมบิดาให้พ้นจากนรกได้ สมความมุ่งหวังที่ว่าจะบวชเพื่อช่วยโยมพ่อให้ได้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้แล้วก็เกิด ปิติยินดีเป็นอันมาก


เรียนหนังสือธรรมจากใบลาน
                เมื่อบวชแล้วพระอาจารย์ได้ให้หนังสือธรรมที่จารลงใบลาน ชื่อหนังสือที่ว่านี้คือ ปัญญาบารมี โดยวิธีเอาหนังสือไปนั่งหันหลังให้อาจารย์ อาจารย์ก็บอกเป็นคำๆ ให้จำเอา แล้วทบทวนหลายเที่ยว ตอนแรกเรียนทั้งวันได้ ๒ แถว ๓ แถว โดยให้จำเอา ไม่มีการให้เขียนเลย ตอนหลังอ่านที่เรียนมาแล้วก็เรียนต่อแถวใหม่ไปเรื่อยๆ จนจบหนังสือผูกนั้น เมื่อท่องได้คล่องแล้วก็เรียนหนังสือผูกใหม่ต่อไป มีการเรียนการสอนอย่างนี้ไปเรื่อยตลอดพรรษา ก็สามารถอ่านหนังสือธรรมออกและเขียนได้ การเรียนการสอนแบบนี้เป็นการเรียนการสอนแบบโบราณที่ทำกันทั่วไปในสมัยนั้น

ธุดงค์สู่ประเทศลาว
          เมื่อออกพรรษาในปีนั้นพระอาจารย์พุฒจะไปธุดงค์ทางประเทศลาว เพราะท่านเคยไปธุดงค์แถวเมืองท่าแขก เวียงจันทน์ขึ้นไปถึง หลวงพระบางอยู่เสมอ ท่านจึงสั่งให้โยมชาวบ้านพากันฟันไม้เสาศาลา การเปรียญคอย แล้วท่านจะกลับมาปลูกศาลาต่อไป โยมแม่จึงขอให้สามเณรคำพันธ์ไปด้วย เพื่อจะให้ไปเยี่ยมญาติทางพ่อทางแม่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ดังนั้นท่านจึงพากันออกจากวัดแพงศรีไปด้วยกัน ถึงที่บ้านหมูม่นอันเป็นบ้านโยมพ่อโยมแม่ของพระอาจารย์พุฒพัก ๑ คืน ตื่นขึ้นจึงเดินทางไปบ้านนาดี ขึ้นภูลังกาข้ามไปบ้านแพงพักวัดสิงห์ทอง ๑ คืน แล้วข้ามน้ำโขงขึ้นไปฝั่งลาวที่พระบาทโพนแพง พักอยู่นั่น ๔ คืนแล้วนั่งรถโดยสารสองแถว ซึ่งมีน้อยที่สุด เพราะบางวันก็ไม่มี ถ้ามีก็มี ๒ คัน ๓ คันเท่านั้น จากวัดพระบาทโพนแพงไปเมืองเวียงจันทน์เจ้าของรถเห็นหนังสือสุทธิจึงไม่เก็บค่าโดยสาร พักที่วัดอูบมุง ในเวียงจันทน์นั้น ๒ คืน แล้วนั่งรถโดยสารไปเมืองหลวงพระบาง เมื่อไปถึงเมืองซองจึงลงรถที่นั่น จากนั้นท่านก็พาไปธุดงค์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่พระอาจารย์พุฒเคยไปมา จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมากก็เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่ที่เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ

โดนไข้มาลาเรียเล่นงาน
                 ประมาณ ๒ เดือนต่อมาได้เป็นไข้มาลาเรีย คือไข้ป่าหรือไข้จับสั่น บางวันก็ไข้บางวันก็หาย จนร่างกายทรุดโทรม วันหนึ่งไข้หนักและไข้นาน พระเณรก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร เพราะไม่มียา จึงเอาขี้ผึ้งใส่น้ำมาให้ฉัน เมื่อฉันแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่ใช่ยาแก้ไข้ป่า ต่อมาพระอาจารย์พุฒจึงพาไปเมืองซองฝากไว้กับพระในวัดนั้น (ชื่อว่าวัดอะไรจำไม่ได้) ฝากกับโยมผู้มีหลักฐานดีผู้หนึ่ง แล้วพระอาจารย์พุฒก็ออกเที่ยวไปที่หลายแห่งแล้วกลับมาเยี่ยมคราวหนึ่ง เห็นว่าเป็นไข้ไม่มียากิน จึงตกลงกันว่าการไปบ้านปากซีเมืองหลวงพระบางนั้นควรงดไว้ก่อน จึงนำกลับไปเมืองเวียงจันทน์ทั้งๆ ที่เป็นไข้อยู่ นั่งรถตามถนนลูกรัง รถโดยสารเป็นรถแบบโบราณ คือตัวเรือนรถทำด้วยไม้ ที่พิงหลังก็ทำด้วยไม้ ที่นั่งก็ทำด้วยไม้ เมื่อขับมาประมาณ ๑ ชั่วโมง ได้อาเจียนออก ไม่มีอาหารในท้องเลย รู้สึกเหนื่อย จนถึงเวียงจันทน์ลงที่วัดอูบมุง ท่านจึงขอฝากกับเจ้าอาวาสวัด อูบมุง ชื่อพระมหาอ่ำ (ท่านเป็นคนบ้านพานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย) ท่านก็รับไว้อยู่ ๒ วัน พระอาจารย์พุฒก็ออกไปจากวัดอูบมุง จากนั้นไม่รู้ว่าท่านไปไหนเลย จึงได้อยู่กับพระมหาอ่ำ

จำพรรษาที่เมืองเวียงจันทน์
ในปีนั้น พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางวัดมีการสอนหนังสือลาว ดังนั้นจึงตั้งใจเรียนหนังสือลาวจนอ่านออกเขียนได้ ปีต่อมาครูจะให้เรียนชั้นตรี กำลังเรียนอยู่ชั้นตรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เกิดสงครามอินโดจีน คือประเทศไทยรบกับฝรั่งเศส ซึ่งประเทศลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ดังนั้นทางการจึงสั่งผู้อยู่เขตเมืองเวียงจันทน์ให้ขุดหลุมหลบภัยทุกบ้านทุกวัด เพราะฝั่งไทยยิงปืนใหญ่เป็นระยะๆ ลูกปืนบางลูกตกเลยหมู่บ้านไปลงทุ่งนาก็มี ตกนอกเมืองก็มี บางลูกตกแล้วไม่ระเบิดก็มี คงเป็นเพราะเก็บไว้นานเลยเสื่อมคุณภาพก็เป็นได้


ผจญสงครามอินโดจีน
                  วันหนึ่งภายในวัดอูบมุง หลวงพ่อสี ท่านตีเหล็กทำมีดอยู่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ทางฝั่งไทยยิงไปจุดไหนไม่รู้ แต่ลูกปืนผ่านตรงกับวัดพอดี เปลือกนอกลูกปืนแตกเป็นเหล็กเท่ากับด้ามมีด ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ตกลงกลางวัดถูกศาลาการเปรียญ ทำให้กระเบื้องมุงหลังคาแตกกระจาย เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พระเณรที่มุงดูการตีเหล็กตกใจต่างพากันวิ่งลงหลุมหลบภัย ส่วนหลวงพ่อสีก็ตกใจเหมือนกัน จึงวิ่งลงหลุมด้วยทั้งที่มือยังถือคีมคีบเหล็กแดงๆ ที่ตีอยู่นั้น ถ้าถูกใครเข้าคงไหม้ เพราะยังแดงๆ และร้อนมาก แต่ก็ปลอดภัย ไม่ถูกใคร หลบอยู่ในหลุมนั้นประมาณ ๔๐ นาที เมื่อไม่เห็นยิงมาอีกก็พากันออกมาจากหลุม

โยมแม่คิดว่าลูกคงไม่รอดแล้ว
                       เมื่อเห็นว่าอยู่ภายในเมืองนี้คงไม่ปลอดภัยแน่ ทุกวัดจึงพากันออกจากเมืองไปพร้อมทั้งญาติโยมไปอยู่ให้พ้นจากลูกปืนที่จะยิงถึง อาตมาก็ออกจากวัดไปอยู่ในที่ที่ทำขึ้นเพื่ออาศัยชั่วคราว แต่ที่มีข่าวลือว่าทางประเทศไทยยิงปืนใหญ่และระเบิดใส่เมืองเวียงจันทน์มีคนล้มตายเป็นอันมาก จนขนศพไปทิ้งไม่หวาดไม่ไหว เอาไปทิ้งลงบ่อจนเต็มหลายบ่อ โยมแม่ก็ทราบข่าวนี้ภายหลังเมื่อกลับมาบ้านโยมแม่เล่าให้ฟังว่า ท่านคิดว่าลูกเราคงจะเสียชีวิตในสงครามกับเขา ท่านจึงร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร และพระอาจารย์พุฒก็ไม่ส่งข่าวให้รู้ว่าอยู่ไหน เป็นอย่างไร จึงทำให้ท่านเป็นห่วงลูกมาก เมื่อสงครามเลิกกันไปแล้วคือ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านพระอาจารย์ก็พาลูกวัดกลับเข้ามาสู่เมืองที่วัดเดิมของตน ในปีนั้นก็จำพรรษาอยู่ที่วัด อูบมุงตามเดิม

กลับเมืองไทย
          ฝ่ายพระอาจารย์พุฒเมื่อได้กลับมาเมืองไทยแล้ว วันหนึ่งชาวบ้านศรีเวินชัยไปพบท่านอยู่ที่วัดบ้านซาง (อำเภอเซกาขณะนี้) จึงได้ถามข่าวว่าสามเณรน้อยนั้นอยู่ไหนทำไมไม่เห็น ยังอยู่หรือว่าตายกับหมู่เมื่อสงครามแล้ว ท่านก็บอกว่า ได้เอาสามเณรไปฝากให้อยู่วัดอูบมุง เมืองเวียงจันทน์ ก็คงยังอยู่ที่นั่น เพราะไม่เคยเห็นท่านกลับมาเยี่ยมถามข่าวอะไรเลย ท่านตอบโยมอย่างนั้น ชาวบ้านศรีเวินชัยคนนั้นกลับมาบอกข่าวกับโยมแม่และญาติพี่น้องให้ทราบ
เมื่อทราบข่าวว่าไม่เห็นเณรน้อยเลย ก็ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องร้องไห้อีกคราวหนึ่ง ต่อมาจึงบอกพี่เขยชื่อมีไปเอาเณรน้อยกลับ เพราะว่าพี่เขยเป็นคนเมืองหลวงพระบาง คงได้รับความสะดวกในการเดินทางไปรับ แล้วพี่เขยก็ให้โยมพี่ชายที่ชื่อจูมศรีไปด้วย การไปเอาเณรน้อยคืนมาได้เดินทางไป อ.บ้านแพงนั่งเรือกำปั่น (เรือกลไฟ) ล่องแม่น้ำโขงจากบ้านบ้านแพงไปถึงหนองคาย ๑ คืน อาศัยรถส่วนตัวข้าราชการที่เข้าไปทำธุระที่ อ. ศรีเชียงใหม่ พักอยู่ ๑ คืน ตื่นมาได้ข้ามไปประเทศลาว เมื่อได้เห็นพี่เขยกับพี่ชายมาที่วัดอูบมุง ก็รู้สึกดีใจมาก ถามได้ความว่าจะมาตามเอาเรากลับบ้านจึงได้ไปกราบลาเจ้าอาวาสวัดอูบมุงและครูบาอาจารย์อื่นๆ ที่เคารพนับถือ พร้อมแล้วก็ลงเรือข้ามฟากไป อ.ศรีเชียงใหม่ (ขณะนั้นยังไปไม่ได้เป็นอำเภอ) พอมาถึงฝั่งไทยก็ยังคิดถึงวัดอูบมุงอยู่ พูดกับพี่เขยและพี่ชายว่าจะขอกลับไปอยู่วัดอูบมุงอีกได้หรือไม่ พี่เขยพี่ชายบอกว่าไม่ได้เด็ดขาดเพราะโยมแม่ร้องไห้คิดถึง

ตลอดเวลาล่องแพกลับบ้าน
                   การกลับบ้านนั้นจะกลับรถประจำทางก็ไม่ได้ เพราะสมัยนั้นถนนหนทางก็ยังไม่มี ตอนแรกคิดว่าจะรอเรือกำปั่นที่จะมาถึง จ.หนองคาย ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะมาเมื่อใด ถ้าจะรอก็ไม่ทราบว่าอีกกี่วันจึงจะได้กลับ พี่เขยและพี่ชายจึงซื้อไม้ไผ่บ้านมาผูกมัดเป็นแพทำหลังคามุงใบไม้ พอบังแดดบังฝนได้ แล้วไปลาเจ้าอาวาสก่อนกลับบ้านโดยล่องแพ ในตอนบ่ายวันนั้นเอาไม้พายขัดแพให้ออกไปจากฝั่งได้ประมาณ ๔๐ เมตร แล้วก็ปล่อยแพให้ไหลไปตามกระแสน้ำโขง ตามปกติน้ำแม่น้ำโขงนั้นถ้าเป็นฤดูน้ำขึ้นมาน้ำก็ยิ่งไหลแรงขึ้นกว่าฤดูแล้ง แพไหลลอยไปทั้งคืนทั้งวัน พอสว่างก็ถึง จังหวัดหนองคาย เอาแพเข้าเทียบฝั่งเพื่อซื้ออาหารเช้าที่ตลาดนั้นเอง ซื้อได้แล้วก็เอาแพออกจากฝั่งปล่อยให้ไหลไปตามเดิม พวกคนในตลาดก็มองดูว่าแพน้อยนี้ว่าแปลกแท้ ก็ให้แพพาไหลตามน้ำไปอย่างเรื่อยๆ
ในช่วงกลางคืนประมาณ ๕-๖ ทุ่ม เกิดฝนตกแรงพร้อมลมแรงจึงพัดแพไปชนเรือที่เขาจอดอยู่ริมฝั่งบ้านหลังหนึ่ง เมื่อกำลังเอาแพออกจากฝั่งก็เกิดเสียงดังจากที่พวกเรางัดแพออก จึงทำให้ชาวบ้านจุดไต้พากันลงมาดู พี่เขยจึงบอกเล่าการล่องแพมานี้เพื่อกลับบ้าน เพราะการโดยสารทางรถก็ไม่มี เมื่อชี้แจงให้ชาวบ้านหายสงสัยแล้ว ก็เอาแพออกจากฝั่งโขงให้ไหลตามน้ำต่อไป จากศรีเชียงใหม่ใช้เวลา ๔ คืน จึงถึง อ.บ้านแพง จ.นครพนม (ขณะนั้นยังเป็น ต.บ้านแพงอยู่) แล้วเอาแพเข้าจอดที่ฝั่งบ้านดอนแพง ซึ่งพี่เขยนี้มีบ้านในหมู่บ้านริมโขงนั้น จึงขึ้นพักอยู่ที่บ้านนั้น ๒ คืน เพื่อรอเรือกำปั่น เพราะเรือกำปั่นนั้นเอาแน่ไม่ได้ คิดว่าถ้าจะเดินทางจากบ้านแพงผ่านบ้านต่างๆ ที่อยู่ดงภูลังกา ดงบ้านหนองซนซึ่งเป็นดงใหญ่มาก มีป่าไม้หนาแน่น มีสัตว์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในปีนั้นมีเสือกัดกินคนตาย ๕ คนแล้ว ในดงและหมู่บ้านที่จะต้องผ่านไป จึงอ่อนใจว่าได้รอดพ้นการล่องแพผ่านมาแล้ว คราวนี้คงเอาชีวิตไปให้เสือกัดตายในดงเป็นแน่ จึงตกลงคอยเรือกำปั่นต่อไป ต่อมาเรือกำปั่นมาจอดที่บ้านแพง แล้วจะไปทางลำน้ำสงครามไปถึงบ้านปากยาม จึงเป็นโชคดีที่บ้านศรีเวินชัยเป็นทางผ่าน ก่อนจะถึงบ้านปากยาม จึงได้อาศัยเรือนั้นไป พอไปถึงบ้านไชยบุรีซึ่งเป็นที่อยู่ปากน้ำสงครามพอดีเป็นตอนเช้า เรือจอดอยู่ริมท่าวัดไชยบุรี วันนั้นตรงกับวันบุญข้าวประดับดิน คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ต้องทำบุญทุกปี ชาวบ้านออกมาทำบุญที่วัดมาก จึงได้แบ่งอาหารจากวัดไปถวายอาตมาในเรือด้วย จากนั้นล่องเรือตามแม่น้ำสงครามมาเรื่อยๆ จนถึงบ้านศรีเวินชัยตอนบ่าย

ความทุกข์ของโยมแม่
                    ขอเล่าเรื่องทางโยมแม่ และน้องสุวรรณ ซึ่งกำลังป่วยเป็นไข้หนักมาหลายวันแล้ว วันนั้นอาการรุนแรงมาก คิดว่าคงจะไม่รอด โยมแม่อุ้มใส่ตักประคองอยู่ ช่วงนี้โยมแม่เป็นห่วงลูกคนสุดท้อง และลูกชายคืออาตมานี้อยู่ทุกวัน นับว่าโยมแม่ได้รับความทุกข์ทางใจอย่างมากเมื่อมีผู้ส่งข่าวว่ามีเรือกำปั่นมาจอดที่ฝั่งบ้านเรา ในเรือนั้นมีเณรคำพันธ์มาด้วย โยมแม่ทั้งได้รับความทุกข์ด้วยความเป็นห่วงลูกชายน้อยอายุ ๖ ปี ที่ป่วยหนักและทั้งดีใจที่ลูกชายคืออาตมามาถึงแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรถูก จะวางลูกที่ป่วยลงจากตัก หรือจะไปรับลูกชายที่เป็นหัวใจของแม่ซึ่งไม่ตายตามคำเล่าลือที่ว่า ผู้คนอยู่ที่เวียงจันทน์ถูกลูกปืนลูกระเบิดตายกันมากมาย ซึ่งทำให้โยมแม่หันหน้าไปทางเมืองเวียงจันทน์ แล้วร้องไห้บ่นเพ้อโดยเลื่อนลอยเกือบ ทุกวัน แต่วันนี้พอรู้ว่าลูกยังไม่ตาย กลับมาถึงแล้วอยู่ที่ท่าเรือขณะนี้ จึงตัดสินใจเอาลูกน้อยคนที่รักสุดใจของแม่คือตัวอาตมา คนที่แม่คิดว่าจะได้พึ่งพาอาศัย เพราะรูปลักษณ์เป็นคนลักษณะดีดูแล้วน่าจะมีบุญ มีสมองดี ตามคำครูที่เล่าไว้ แล้วโยมแม่ก็ตกลงใจวางลูกชายคนเล็กไว้ก่อน แล้ววิ่งลงไปท่าเรือเพื่อพบลูกชายที่เป็นห่วง เวลานั้นเรากำลังเดินออกจากเรือโยมแม่ก็ไปถึงพอดี ท่านดีใจมากพร้อมยื่นมือไปจับแขนเราจูงมาว่าลูกแม่เอ๋ย แม่คิดว่าเจ้าตายแล้วแม่ร้องไห้ถึงเจ้าทุกวันๆ โยมแม่ทั้งพูดพร่ำรำพันทั้งน้ำตาร่วงเป็นสายทั้งเดินจูงแขนด้วย เราเองก็ไม่ห้ามท่าน ปกติสมณะบวชเป็นบรรพชิตเพศแล้ว ผู้หญิงแม้จะเป็นมารดาก็ไม่ควรให้จับต้อง แต่นี้เราไม่ห้าม เพราะท่านเป็นห่วงมาก แม้จะให้ตายแทนลูกแม่ทุกคนก็ยอมตายนั่นเอง


โยมน้องยังรอเห็นหน้าก่อนลาจาก
                 ในปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เราอายุ ๑๓ ปี น้องสุวรรณอายุ ๗ ปี เมื่อขึ้นไปบนเรือนโยมแม่ก็วิ่งไปอุ้มน้องซึ่งกำลังเป็นไข้หนักมีอาการกระวนกระวาย ดิ้นไปตามอาการของไข้หนัก โยมแม่ได้บอกลูกน้อยให้เหลียวมองดูพี่ชายที่แม่ได้ร้องไห้คิดถึงทุกวัน บอกว่ายังไม่ตาย กลับมาถึงบ้านเราแล้ว สุวรรณได้หันมาสบตากันนิดหนึ่ง พอรู้หน้ากันไม่นานก็กระสับกระส่ายไปตามพิษไข้ อาตมาก็พักอยู่กับบ้าน และน้องชายก็สิ้นลมในเวลาเที่ยงคืนวันนั้นเอง คงยังไม่อยากตาย เพราะอยากเห็นหน้าพี่ชายก่อน คิดดูแล้วในระยะนี้โยมแม่รับทุกข์ทางใจมากอย่างยิ่ง

 การตัดสินใจครั้งสำคัญ (สึกหรือไม่สึก)
                    เมื่อทำการฌาปนกิจน้องสุวรรณแล้ว พี่เขยซึ่งเป็นครูสอนโรงเรียนบ้านศรีเวินชัย สอนมา ๒ ปีแล้ว ได้ถามว่าจะสึกหรือจะอยู่เป็นสามเณรต่อไป ถ้าจะสึกก็จะให้เรียนหนังสือ ถ้าไม่สึกก็จะพาไปฝากพระอาจารย์ วัง ฐิติสาโร ที่วัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัยบ้านของเราเมื่อพี่เขยถามเช่นนั้น จึงคิดทบทวนแต่ครั้งก่อนเมื่ออยู่เวียงจันทน์เห็นหมู่เพื่อนเณรด้วยกันสึก เราก็คิดแล้วบอกกับเพื่อนว่าถ้าผมได้กลับบ้านเมื่อไรจะต้องสึกแน่ๆ แต่ขณะนี้ผมยังไม่สึก แต่พอมาถึงบ้านมีเหตุการณ์ที่โยมแม่ได้รับความผิดหวัง คือลูกชายคนเล็กได้จากไปไม่มีวันกลับมา และดีใจที่เราได้กลับมาให้ท่านสมหวังที่รอคอย จึงคิดอีกครั้งกับคำที่บอกกับเพื่อนเณรที่ อยู่เวียงจันทน์ไว้และเกิดความคิดใหม่ว่าจะไม่สึกพี่เขยคือ ครูเพชร เหมื้อนงูเหลือม จึงพูดว่า ถ้าไม่สึกจะพาไปฝากกับพระกรรมฐาน คือ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ซึ่งท่านได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้อยู่จำพรรษาและจะสร้างให้เป็นวัดศรีวิชัยต่อไป

ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
              เมื่อฉันข้าวเสร็จแล้วพี่เขยและโยมแม่พาไปฝากอยู่กับท่าน พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ที่วัดศรีวิชัย พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นต้นมา เมื่ออยู่กับท่านแล้ว ท่านได้ให้ท่องสวดมนต์ตามหนังสือเจ็ดตำนานคือเรียนต่อปากท่าน ท่านบอกให้แล้วก็ท่องจำให้คล่อง วันใหม่ก็ท่องคำที่จดจำได้นั้น ให้ท่านฟัง แล้วก็ท่องคำต่อๆ ไปแต่ละสูตรๆ ปรากฏว่าเราเรียนจดจำได้ เร็วมาก ท่านพูดว่าจำได้เก่งจริง เรื่องจดจำการสวดมนต์ได้เร็วนี้คิดว่าคงเป็นอุปนิสัยเป็นบุญเดิมมาแต่ชาติปางหลังเพราะพระสูตรต่างๆ นี้เมื่อได้ฟังท่านสวดแล้ว เราก็จำได้ง่าย คล้ายกับได้จดจำมาก่อนแล้ว ท่องจำสวดมนต์ไม่นานก็ท่องได้ตามสูตรที่จะต้องใช้ในงานต่างๆ ได้หมด
                 เมื่ออยู่กับท่านจนมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านมีนาคจะบวชพระ ๑ คนชื่อว่า โง่น (คือ หลวงปู่โง่น โสรโย) การบวชนี้จะต้องไปที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ห่างจากวัดศรีวิชัยประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร การไปไม่มีถนนและรถยนต์เหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นท่านจึงต้องไปทางเรือ เมื่อเตรียมอะไรพร้อมแล้วก็จัดเสบียงอาหารนำไปให้พร้อมด้วย ออกจากบ้านศรีเวินชัย ล่องไปตามลำน้ำสงครามไปออกแม่น้ำโขงที่ปากน้ำไชยบุรี แล้วล่องลำน้ำโขงจนถึงตัว จ.นครพนม ในการบวชครั้งนี้มี สามเณรคำสอน วิชาโสก ซึ่งบวชฝ่ายมหานิกาย เป็นคู่กันขอญัตติบวชเป็นสามเณรธรรมยุตใหม่ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่ออายุ ๑๔ ปี โดยมี ท่านพระสารภาณมุนี (ภายหลังคือ พระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชเสร็จก็เดินทางกลับโดยทางน้ำเหมือนเดิม

อัศจรรย์แห่งอาจารย์วัง ภาวนาจนรู้หนังสือ
                  ในปีนั้นเองทางเจ้าคณะจังหวัดได้สั่งให้พระเณรสอบนักธรรม เมื่อไม่มีใครสอนท่านอาจารย์วังนั้นเองเป็นครูสอน ท่านอาจารย์นั้นเมื่อเป็นเด็กเข้าโรงเรียนอยู่ ๔ ปี ก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะท่านสมองไม่ดี เมื่ออกจากโรงเรียนก็อ่านหนังสือไม่ออก แต่เมื่อท่านออกบำเพ็ญภาวนา เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอันดีแล้ว ท่านกลับอ่านออกเขียนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นแม้ท่านไม่เคยเรียน ไม่เคยสอบนักธรรมเลย แต่ก็สามารถสอนได้ มีเณรได้เรียนในปีนั้นคือ สามเณรคำสอน วิชาโสก สามเณรแก้ว สีใส รวมกับเราท่านสอนได้เดือนสองเดือนก็หยุดให้อ่านเอาเอง ปรากฏว่าในปีนั้นสอบได้นักธรรมตรีทั้ง ๓ รูป ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ เราสอบได้นักธรรมโทโดยวิธีการอ่าน และเรียนด้วยตนเอง

จำพรรษาบนภูลังกา
                   พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโรไปอยู่จำพรรษาที่ถ้ำ ชัยมงคลซึ่งอยู่หลังภูลังกา ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงกาฬ (ปัจจุบันคือ อ.บึงโขงหลง) จังหวัดหนองคาย ในปีนั้นมีสามเณร ๓ รูป คืออาตมา สามเณรสุบรรณ ชมพูพื้น สามเณรใส ทิธรรมมา รวมเป็น ๔ รูปกับท่านอาจารย์วัง ถ้ำนี้อยู่บนหลังเขาภูลังกาทางทิศตะวันตก ถ้าลงไปบิณฑบาตจากบ้านโนนหนามแท่ง บ้านโพธิ์หมากแข้ง ต้องเดินตามทางคนผ่านดง ภูลังกา ไปประมาณ ๖ กิโลเมตร จึงจะถึงหมู่บ้าน ทดลองไปบิณฑบาตแล้วไกลเกินไป จึงนำเอาอาหารแห้งไปไว้ที่ถ้ำให้โยมและเณรทำถวายท่าน

อุบายปราบความง่วง
               ในการไปอยู่ภูลังกาท่านก็สอนให้ทำความเพียรด้านจิตใจเดินจงกรม นั่งสมาธิตามที่ท่านได้บำเพ็ญมาอย่างโชกโชน แต่เราผู้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้สมใจนึกเท่าที่ควร นั่งสมาธิก็มีแต่โงกง่วงสัปหงกอยู่เรื่อย จึงคิดจะหาทางปราบไม่ให้โงกง่วง วันหนึ่งจึงขึ้นไปบนหลังถ้ำ ซึ่งมีลานหินกว้างยาวพอเดินจงกรมได้สะดวก หรือจะนั่งสมาธิตามที่แจ้งหรือร่มไม้ก็สะดวกดี เลือกเอาที่ใกล้หน้าผาชันสูงมากห่างหน้าผาประมาณ ๒ วา มีที่นั่งเหมาะอยู่ จึงตกลงไปนั่งที่นั่น ถ้าสัปหงกไปทางหน้าก็คงจะเลื่อนไหลตกหน้าผาได้ จึงนั่งลงที่ตรงนั้นแล้วบอกตัวเองว่า นี่หน้าผาชันอันตราย ถ้าเจ้าจะนั่งโงกง่วงอยู่ แล้วชะโงกไปข้างหน้าก็มีหวังตกหน้าผา คงไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว หลังจากเดินจงกรมแล้วก็เข้าไปนั่งที่หมายไว้ ได้นั่งไปนานเกือบชั่วโมง สติก็ประคองใจให้อยู่ตามอารมณ์ที่ต้องการอยู่ได้ เพราะกลัวตาย ต่อจากนั้นร่างกายคงเดินจงกรมมานาน และนั่งร่วมชั่วโมงแล้วสติเผลอนิดเดียวเกิดง่วงสัปหงกจนได้ แต่สัปหงกคราวนี้แทนที่จะโยกคว่ำไปทางหน้ากลับสัปหงกหงายหลังเกือบล้ม ตกใจตื่นจากง่วงจึงคิดว่าเกือบตาย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องตายแท้ๆ มันยังง่วงอยู่ได้ จึงเลิกนั่งเลยวันนั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลดีมากเพราะไม่ง่วงอีกเลย ถ้ายังง่วงอีกจะพาไปนั่งที่นั่นอีก เข็ดหลาบได้ผลดี แต่ความเพียรก็ไม่ลดละ แต้ก็ล้มลุกคลุกคลานไม่สงบตามที่ต้องการ

มาตุคามมาเยือน
                   ในระยะนั้นอยู่ถ้ำชัยมงคลกับท่านทั้ง ๓ เณร เณรนั้นอายุ ๑๘-๑๙ ปี กิเลสต่างมาวุ่นวายทำให้จิตใจปั่นป่วน จะอยู่จะไปเท่ากัน วันหนึ่งท่านอาจารย์ได้ถามว่าเณรใดจะสึกจะอยู่ เรากราบเรียนท่านว่ายังบอกไม่ถูกว่าจะอยู่หรือจะสึก เราพูดเพราะหลงความงามนั่นแหละ เรื่องสวยเรื่องงามนี้ แม้ว่าในใจเราจะเฉย แต่ก็แปลกกับความงามน่ารักของเพศตรงข้าม
                มีคราวหนึ่งตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ขณะอยู่วัดอูบมุง เมืองเวียงจันทน์ จะลงไปอาบน้ำโขงกับเพื่อนเณร ๔ รูป ทางนั้นต้องผ่านบ้านของชาวบ้านหลายหลัง เมื่อเดินไปถึงกลางบ้าน นางสาวบุญเรือง เอาแขนสองข้างอ้อมเป็นวงรอบตัวเรา เพราะเกิดนึกสนุกอย่างไรไมทราบแถมบอกว่า อย่าไหวนะ ถ้าไม่เช่นนั้นจะกอดเลย เราก็หดตัวอยู่ในอ้อมแขนของเขา ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องรักเรื่องใคร่ไม่มีในขณะนั้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อ้อมอยู่นานประมาณ ๔ นาที จึงปล่อยเราไปแปลกมาก
               อีกคราวหนึ่ง ได้ไปร่วมเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน เมื่อเสร็จงานจะกลับวัด เดินมาทางกลางบ้านของงาน มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งแกมีลูกสาว จึงพูดขึ้นท่ามกลางคนทั้งหลายนั้นว่า เณรน้อยจะหมายไว้เป็นลูกเขยจงจำไว้ ไม่รู้ทำไมโยมนั้นจึงกล้าพูดคำเช่นนั้นในกลางชุมชน เพราะแกเกิดความรักความคิดอย่างไรจึงพูดเช่นนั้น เราก็เก้อเขินอายในใจด้วย
ส่วนอีก ๒ เณร บอกท่านอาจารย์ว่าจะอยู่ ต่อมาก็พากันสึกทั้งสองรูป เราผู้ไม่ได้บอกท่านกลับอยู่ได้ นี้ไม่แน่นอนเหมือนกัน


จากสามเณรสู่ภิกษุหนุ่ม
             ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ อายุได้ ๒๐ ปี ท่านอาจารย์ได้ส่งเราไปทางเรือกลไฟ จากบ้านแพงไปนครพนม เป็นคู่กันกับเณรวันดี แสงโพธิ์ ไปบวชพระที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ในเดือนมกราคม ท่านพระอาจารย์ที่วัดบอกว่า ผู้เกิดเดือนพฤษภาคมบวชได้ ส่วนผู้เกิดเดือนพฤศจิกายนนั้นใกล้จะเข้าพรรษาจึงมาบวชได้ ดังนั้นจึงบวชได้เฉพาะสามเณรวันดี ส่วนอาตมาเห็นว่าเมื่อกลับไปแล้วจะกลับมาลำบาก เพราะเป็นฤดูฝน จึงไม่ได้ไปตามที่ท่านแนะ รอจนออกพรรษาแล้วจึงลงจากถ้ำชัยมงคล เดินทางไปวัดศรีเทพประดิษฐารามเพื่อไปสอบนักธรรมเอกด้วย จึงอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๑๓.๕๐ น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระเทพสิทธาจารย์ ท่านพระครูวิจิตรวินัยการ (พรหมา โชติโก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระราชสุทธาจารย์ และปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้ในปีนั้นนั่นเอง


กลับมาอยู่วัดศรีวิชัย
              พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพระอาจารย์วังได้สั่งให้ไปอยู่วัดศรีวิชัย เพราะปีนั้นวัดว่างจากพระ ไม่มีพระมาจำพรรษา ท่านเป็นห่วงวัดและญาติโยม เพราะท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านจึงให้อาตมาพร้อมด้วย พระวันดี อโสโก พระดอน ขันติโก สามเณรและเด็กวัดให้ลงไปอยู่วัด ซึ่งปีนั้นอาตมามีพรรษาได้ ๓ พรรษา เมื่อไปอยู่วัดแล้วร่วมจำพรรษาด้วยกันทั้งหมด ในกลางพรรษานั้น ท่านหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้ขอให้สอนนักธรรมตรีที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อมาอยู่ที่วัดศรีวิชัยแล้ว ก็ไม่ได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

หาอุบายแก้ความกลัวผี
               ในการบำเพ็ญจิตภาวนานั้นก็ไม่ลดละ คงบำเพ็ญมาตลอดตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ได้แนะนำสั่งสอนมาได้รับความสงบบ้างในบางวัน วันหนึ่งเวลาประมาณ ๕ ทุ่ม หลังจากเดินจงกรมแล้วจะไปเยี่ยมที่เผาศพซึ่งกำลังเผาศพอยู่ เพื่อจะให้จิตสงบหายกลัวผี ซึ่งมีอยู่มากตามปกติ เมื่อเดินไปใกล้จะถึงที่เผาศพอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร มีความกลัวมาก กลัวจนสุดขีด ขาแข็งก้าวเท้าเดินไม่ออก ได้ยืนกับที่ยืนนิ่งอยู่นาน จึงคิดว่ากลัวทำไม เราได้ขอฝากตัวถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีใครจะเหนือพระองค์ไปได้ แม้แต่พระอินทร์ พระพรหม เทวดา ผีสางนางไม้ มนุษย์ยอมกราบไหว้ทั้งหมด เอ้าตายเป็นตาย จากนั้นก็ยืนนิ่งไปเลยนานเท่าไรไม่ได้กำหนด เมื่อถอนจากความสงบแล้ว จิตเบิกบานหายจากกลัวผีเป็นปลิดทิ้งเลย แล้วจึงเดินต่อไปหาศพ พิจารณาถึงการตายของเราแล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ ในวันหนึ่งแน่นอน ได้ธรรมะมากพอสมควรแล้วจึงเดินกลับกุฏิ

พัฒนาวัดศรีวิชัย
                ในกาลต่อมาเมื่อมีพระเณรมาจำพรรษาอยู่ด้วยมากขึ้น จึงซ่อมหลังคาศาลาโรงธรรมขึ้น เพราะปลวกกัดหลังคาเสียหาย ก็พาโยมจัดซ่อมขึ้น พร้อมทั้งกุฏิก็ชำรุดและกุฏิไม่พอ จึงให้โยมชาวบ้านช่วยกันจัดซ่อมและสร้างใหม่ขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างศาลาถาวรขึ้นใหม่ ก่อด้วยอิฐต่อด้วยเสาไม้ทรงไทย กว้าง ๑๑.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ซื้อแบบพิมพ์มาทดลองเอง ซื้อทั้งหมด ๔๗,๖๕๐ บาท ทำอยู่ ๒ ปีเศษจึงสำเร็จ และได้ฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙

สู่ถ้ำชัยมงคลพิสูจน์ข่าวลือเรื่องผี
             ต่อมาในปี ๒๔๙๙ นั้นได้มีเสียงเล่าลือว่า ที่ถ้ำชัยมงคลมีผีเฝ้าถ้ำอยู่โดยเข้าใจว่าคงเป็นพระอาจารย์วัง และพระวันดีผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งได้มรณภาพที่นั่น นี่เป็นคำบอกเล่าของพระอาจารย์กุล อภิชาโต บ้านโพธิ์หมากแข้ง ซึ่งเป็นพระวัดบ้าน และเป็นผู้ที่เคารพรักใคร่ของพระอาจารย์วังอยู่มาก จึงบอกให้เราทราบ ได้ปรึกษากันว่าคำเล่าลืออย่างนี้ไม่ดีแน่ จึงตกลงกันไปกับท่าน เมื่อไปถึงบ้านโพธิ์หมากแข้งแล้วพักหนึ่งคืน วันต่อมาได้ชักชวนญาติโยมประมาณ ๑๕ คนขึ้นไปสู้ถ้ำชัยมงคล ได้ค้างคืนอยู่นั่น ๓ คืน แต่ละวันแต่ละคืนได้พากันทำวัตรสวดมนต์ แล้วทำบุญอุทิศไปให้ ครูบาอาจารย์ เทวดาอารักษ์ สรรพสัตว์ด้วย แล้วนั่งภาวนาพอสมควร แล้วหยุดพัก อธิษฐานว่า ถ้ามีอะไรเป็นจริงตามคำเล่าลือก็ขอให้มีมาปรากฏทางใดทางหนึ่งให้ทราบ แต่แล้วทั้ง ๓ คืน ก็ไม่มีอะไรมาปรากฏให้รู้ จึงมีความเห็นว่า เป็นเพราะถ้ำไม่มีพระอยู่เป็นประจำ ผู้ไปอาศัยก็ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว จึงสร้างความคิดขึ้นหลอกตัวเองไปต่างๆ นานา


เกือบเอาชีวิตไปทิ้งที่บึงโขงหลง
               จากนั้นก็ลงจากถ้ำจะกลับวัด แต่มีโยมบ้านดอนกลาง ต.โพธิ์หมากแข้ง เคยเป็นบ้านอุปัฏฐากถ้ำชัยมงคลเช่นกัน จะทำบุญบ้าน จึงขอนิมนต์ให้อยู่ร่วมทำบุญด้วย จึงจำเป็นต้องไปตามคำนิมนต์ เมื่อเสร็จจากงานบุญแล้ว ก็จะกลับบ้าน โยมจะหาผักหนอก (ผักใบบัวบก) ถวาย ซึ่งมีอยู่ใกล้บ้าน ๑ กิโลเมตร ริมน้ำบึงโขงหลง เหตุการณ์บังเอิญให้เกิดความคิดกันขึ้นในชุมนุมกันอยู่ เกิดความอยากสรงน้ำขึ้นมา จึงชวนกันไปสรงน้ำที่อยู่ใกล้ๆ กับที่โยมไปเอาผักหนอก จึงตกลงกันไป ๕-๖รูป เมื่อไปจริงๆ ผู้ชวนหมู่กลับไม่ไปด้วย ก็มีผู้ใหม่มาแทนรวมได้ ๔ รูป คือ
๑. พระอาจารย์กุล อายุ ๓๖ ปี เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี
๒. พระคำพันธ์ (อาตมา) อายุ ๒๙ ปี เกิดอยู่จังหวัดนครพนม
๓. พระทองดี อายุ ๓๖ ปี เกิดอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์
๔. พระอุทัย อายุ ๒๔ ปี เกิดอยู่จังหวัดหนองคาย
ทั้งหมด ๔ รูป ๔ จังหวัด เรือที่เอาไปนั้นนั่งได้ ๖ คน ทั้ง ๔ รูปนั่งริมเรือซึ่งอยู่สูงจากน้ำอยู่ เรือเป็นเรือโคลงเคลงง่ายนั่งไม่แน่นเอียงซ้ายเอียงขวาอยู่เรื่อยๆ
                ความตั้งใจเดิมว่าจะไปสรงน้ำ เมื่อไปถึงที่โยมเก็บผักหนอกแล้ว เพราะเหตุดลใจอย่างไรไม่ทราบ จึงคิดชวนกันขณะนั้นว่า พวกเราไปดอนแก้วดอนโพธิ์ ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำบึงโขงหลง แล้วจึงกลับมาพบโยม ตกลงกันดังนั้นแล้วก็หันหัวเรือมุ่งไปดอนทั้งสองนั้น พายเรือไปกลางน้ำมุ่งตรงไปดอนเลย ซึ่งปกติคนอื่นเขาไปกัน เขาจะพายเรือเทียบฝั่งไปก่อน เมื่อไปถึงตรงดอนแล้วจึงหันหัวเรือไปสู่ดอนภายหลัง นี่ก็ลางร้ายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมาทราบภายหลัง กรรมของผู้ตายมาถึงจุดจบแล้ว จึงให้พอทำใจอย่างนั้น ดอนทั้งสองอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อพายเรือไปถึงจุดที่เรือพลิกล่ม เป็นจุดกลางพอดี ระหว่างสองฝั่งทั้งสอง เรือได้โคลงพลิกเอาน้ำเข้าเรือข้างซ้าย จากนั้นน้ำก็เข้าเรือเรื่อยๆ จนทำให้เรือจม ทั้ง ๔ รูป ตกใจ แต่ทุกคนอยู่กับเรือตามที่อาตมาแนะนำ เพราะอาตมาเคยชำนาญทางเรือทางน้ำ เรือล่มก็ถือว่าเป็นเรื่องสนุกไป เมื่อใดเรือล่มก็ชวนกันกู้เรือได้ แล้วก็ขึ้นเรือต่อไป แต่ ๓ รูปท่านไม่เคยทำเช่นว่า เพราะเมื่ออาตมาชวนให้กู้เรือทั้งๆ ที่เท้าไม่เหยียบดินก็ทำไม่เป็น อาตมาก็ดึงเรือ กู้คนเดียวไม่ไหว เพราะ ๓ รูปเกาะติดแน่น เลยไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ก็มารวมนั่งในเรือซึ่งล่มอยู่ เมื่อนำหนัก ๔ รูปทับอยู่ จึงทำให้เรือจมดิ่งลง แล้วก็เปรียบเหมือนเอาเท้าเหยียบส่งต่อ เรือจึงจมลงจนน้ำเข้าปาก ต่างก็ว่ายน้ำกันตามลำพัง เมื่อเห็นเรือมันโผล่ขึ้นมาไกลจากจุดที่พระ ๔ รูปว่ายน้ำอยู่ประมาณ ๕ วา ก็ว่ายน้ำไปรวมที่เรืออีก แต่เรือก็จมลงอีก เมื่อเรือโผล่ก็ว่ายไปหาเรือที่โผล่ขึ้นอีก ทำอย่างนี้หลายครั้ง
                 คราวหนึ่งอาตมามาคนเดียวได้มีโอกาสร้องบอกว่า เรือล่มช่วยด้วยได้เพียงสองคราว จากนั้นต่างคนต่างก็ลอยคออยู่ตามลำพัง จนรู้สึกหมดแรง พระอาจารย์กุลท่านมีโรคประจำตัว ส่วนพระอุทัยเป็นคนรูปร่างเล็ก ผลต่อมาคือ เมื่อว่ายน้ำไปหาเรืออีกครั้งปรากฏว่าไม่พบพระอาจารย์กุลและพระอุทัยแล้วไม่รู้จมน้ำที่ไหน เพราะต่างคนก็ต่างดิ้นรนช่วยตัวเอง ดีอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อว่ายน้ำไม่เก่งก็ไม่ไปกอดอาศัยคนที่ว่ายน้ำเก่ง เมื่อเหลือสองรูปกับพระทองดีจึงพูดกันว่า เมื่อเพื่อนตายไปแล้ว เราสองคนอย่าหนีจากเรือ ขณะที่เรือล่ม มาทราบภายหลังว่า มีคนเห็นอยู่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกฝั่งขวามีโยมสามคนกำลังแทงเหล็กแหลมเพื่อหาจับปลาไหลอยู่ ครั้งแรกนั้นเมื่อเห็นพระพายเรือมาแต่ไกลก็พากันเข้าใจว่าเป็นพระอยู่บ้านโสกก่าม หรือไม่ก็คงเป็นพระที่บ้านต้องกลับจากที่ไปร่วมทำบุญบ้านดอนกลาง แล้วพากันกลับวัดโดยเรือ แต่เมื่อเรือล่มอยู่กลางบึงโขงหลงตรงตัวพอดี กลับเข้าใจไปว่ามีโยมคนหนึ่งอยู่คนละฝั่งโขงหลงกำลังไล่ตีกวางลงน้ำอยู่ มองเห็นหัวเรืออยู่ที่กลางน้ำที่โผล่ขึ้นๆ ลงๆ ดังที่เล่ามาแล้ว เข้าใจว่าเป็นเขากวาง จึงพากันเอาเรือข้ามบึงโขงหลงไปช่วยไล่ตีกวางด้วย เผื่อจะได้แบ่งส่วนเนื้อกวาง โยมกลุ่มนี้เองคือกลุ่มที่มาช่วยอาตมา ส่วนโยมกลุ่มที่ ๒ อยู่อีกฝั่งหนึ่งมองเห็นเรือล่มอยู่นั้น คิดว่ามันติดกับฝั่งโน้น เข้าใจว่าเด็กเล่นเรืออยู่ จึงร้องด่าไปแก่พวกเด็กๆ ด้วย โยมกลุ่มที่ ๓ เป็นชาวบ้านโสกโพธิ์ ชวนกันมาทอดแห ๘ คน มีเรือ ๔ ลำ พร้อมกับทอดแหมาเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ไกลจากจุดเรือล่มประมาณ ๖-๗ เส้น รู้กันทุกคนว่ามีเรือล่มและมีคนว่ายน้ำลอยคออยู่ (คือได้ถามกับโยมคนหนึ่งใน ๘ คนภายหลัง) เสียงร้องให้ช่วยเหลือก็ได้ยินชัดเจนอยู่ แต่ได้คิดว่าเป็นเรือพระ ตอนแรกก็ชวนกันจะไปช่วยอยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้าเขาพากันไปช่วยในช่วงนั้นก็คงช่วยได้ ไม่ต้องมีใครตาย หรือไม่ก็ช่วยได้ ๒ รูป แต่กรรมของผู้ตายดลบันดาล ปิดสมองปิดหัวใจไม่ให้มีโอกาสช่วยเหลือได้ จึงพร้อมกันทั้ง ๘ คนให้เห็นพร้อมกันว่า ไม่ต้องไปช่วยพวกนั้นดีกว่า คงเป็นตำรวจเอาผู้ร้ายมาฆ่า อย่าไปยุ่งกับเจ้ากับนายเลย (อาตมาจึงถามว่า มีตำรวจทำเช่นนี้มาแล้วหรือ เขาตอบว่าไม่เคยมีเลย) ผลก็คือตัดสินใจไม่พากันไปช่วย ทอดแหไปตามเรื่องเฉย คิดแล้วน่าน้อยใจว่าใจดำอำมหิตกันจริงๆ แต่มาคิดในแง่กรรมของผู้ตาย มันคือจุดจบชีวิตแล้ว จึงบันดาลให้ปิดหัวใจของคนทั้งสามจุดนั้นให้แน่นหนา เพราะเมื่อผลกรรมจะให้ผลแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน บนฟ้า ใต้ดิน ไม่มีทางหลีกจากกรรมคือความตายได้เลย แต่มาคิดว่าอาตมามีกรรมพัวพันกันมาแต่ครั้งไหน จึงติดพันกันมาร่วมเหตุการณ์เช่นนั้นได้

เมื่อกรรมบันดาล
 
                 คราวนี้ขอกล่าวต่อถึงเหตุการณ์พระสองรูปที่เหลือ ได้พูดกันว่า เพื่อนตายไปแล้วสองคนเราอย่าหนีจากเรือเด็ดขาด ก็ร่วมกันนั่งเรือที่ล่มอยู่นั่นเอง คนหนึ่งอยู่หัวเรือและอีกคนอยู่ท้ายเรือ ได้ร้องให้คนช่วยเหลือถึงสองครั้ง พระทองดีก็ร้องสองครั้ง คราวนี้โยมสองคนที่จะไปช่วยตีกวางลงน้ำจึงสำนึกขึ้นได้ว่าคงเป็นพระที่เราเห็นตอนต้นแล้วคิดว่าท่านกลับมาจากทำบุญโดยทางเรือต้องไปช่วยแล้ว โดยเอาเรือลำใหญ่นั่งได้ ๑๒ คน แต่ลงเรือไป ๒ คน อีกคนไม่ไปด้วย มีไม้พายหนึ่งเล่ม คนที่สองเอาไม้ไผ่กลมๆ ใช้แทนไม้พาย จึงเป็นเหตุให้เรือไปช้า ถ้ามีไม้พายทั้งสามคนๆ ละอัน ร่วมกันต้องพายเรือไปทันช่วยพระทองดีแน่ ความตายของพระทองดียังจะต้องมีในระยะนี้อยู่ จึงให้เป็นทางเอื้ออำนวยตามเรื่องของกรรมบันดาล



บุพนิมิตก่อนสิ้นสติ
 
                   ขณะที่โยมสองคนกำลังมาช่วยนั้นยังอยู่อีกไกล เราสองรูปได้ว่ายน้ำไปๆ มาๆ หลายเที่ยวรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยมาก เรือที่มีเรานั่งอยู่ก็พยุงเราไม่ได้ ทำให้ยันเรือจมลงพื้นน้ำ น้ำก็เข้าปาก ต่างคนต่างว่ายหาเรือ ถึงขณะนี้อาตมาก็เริ่มหมดแรงจะจมน้ำลงไปด้วย จึงได้แต่พยายามพยุงตัวเองขึ้นให้พ้นน้ำ ขณะนั้นปรากฏเห็นสิ่งอัศจรรย์คือเห็นของรูปศาลาการเปรียญที่ได้สร้างอยู่ที่วัดศรีวิชัย และเพิ่งทำบุญฉลองไปไม่นาน เป็นรูปย่อส่วน ยาวประมาณ ๑ ศอกเป็นรูปสีทองสวยงามมาก ลอยอยู่กลางอากาศ สูงจากพื้นน้ำประมาณ ๓ วา เป็นบุพนิมิตทางสุคติที่จะต้องไป ขณะนั้นเราก็เหมือนหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะดื่มน้ำเข้าไปมากและก็เริ่มจมลงไปอีก เราก็ต้องพยายามพยุงขึ้นให้พ้นน้ำอีก แต่กรรมไม่ถึงที่ตายมาถึงระยะนี้ จึงสามารถพยุงกายโผล่ขึ้นมา ทำให้ศีรษะกระทบกับเรืออย่างแรงจนทำให้หัวโน แล้วเราก็เอามือทั้งสองข้างกอดเรือไว้ทันที แต่ก็ได้ดื่มน้ำเข้าท้องจนเต็ม ทำให้หายใจไม่สะดวก ในใจก็กลัวมือที่กอดเรืออยู่จะไหลลื่นหลุดจากเรือแต่มีสติดีอยู่ ได้มองไปเห็นพระทองดีซึ่งอยู่ไกลประมาณ ๔ วา หมดแรง จะมาหาเรือก็ไม่ได้ เห็นพระทองดีค่อยๆ จมลงไปอย่างช้าๆ โดยไม่กระดุกกระดิกเลย มีฟองไหลออกจากปาก จากจมูก จากหู เป็นสายติดกัน เพราะน้ำเข้าสู่ท้อง ลมก็ออกมาดังกล่าว ส่วนเราผู้กอดเรืออยู่ก็หมดแรง กลัวมือจะลื่นไหลจากเรือ หายใจไม่ทั่วท้องแต่ก็คิดจะช่วยอยู่ จึงพยายามกระเถิบเรือไปให้ใกล้พระทองดี เห็นสายฟองน้ำยังออกเป็นสาย ได้เอามือข้างหนึ่งงมลงไป ถ้าจับถูกก็จะดึงขึ้นมา แต่นี่จับไม่ถูก เพราะจมลงลึกแล้ว ต่อไป (ขอโทษ) ได้เอาเท้ากวาดดูก็ไม่เจออีก คงจมลึกลงไปแล้ว หมดทางจะช่วยได้แล้ว จึงคิดช่วยตัวเอง ทั้งๆ ที่หายใจไม่ทั่วท้อง คิดว่าคงตายอยู่ตลอดเวลา จึงพยายามกู้เรือขึ้นมาได้นิดหนึ่ง เอามือข้างหนึ่งกวาดน้ำออกจากเรือแล้วพยายามขึ้นเรือ พอขึ้นเรือได้จึงรู้ว่าในตัวเรามีแต่ผ้าอังสะกับสายประคดรัดเอวอย่างแน่นนี่เอง ที่ป้องกันไม่ให้กินน้ำเข้าไปมากกว่าที่เป็นมาแล้ว คือยังมีอะไรช่วยได้อยู่บ้าง ส่วนผ้าอาบน้ำกับสบงไม่รู้หลุดไปอยู่ที่ไหน เมื่อขึ้นไปอยู่บนเรือแล้วเกิดมีลมพัดเรือให้ไหลไปอีกฝั่งหนึ่งจนถึงป่าบัวริมฝั่ง แต่ยังไกลจากฝั่ง ๓-๔ เส้น ก่อนหน้านี้ไม่มีลมพัดเลย ทั้งๆ ที่ลอยคออยู่ดังกล่าวประมาณ ๓๐ นาที เมื่อนั่งอยู่กลางลำเรือเอามือประสานกันก้มลงทับขั้นเรืออยู่ มองไปเห็นเรือที่โยม ๒ คนนำมาช่วย สติยังดีอยู่รู้ว่าตัวเรา ไม่มีอะไรนุ่ง จึงปลดเอาผ้าอังสะผืนใหญ่เอามานุ่ง
              เมื่อโยมนั้นมาถึงจึงลงถามว่า ญาคู (พระ) ชื่อว่าอะไร ไม่รู้ว่าจะถามชื่อไปทำอะไร เราจึงไม่ตอบ แล้วโยมถามอีกว่า จะไปไหน
              ครั้งนี้ก็ไม่ตอบอีก เพราะรู้สึกเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว โยมจึงถามอีกว่าหมู่ (เพื่อน)ไปไหนหมด จึงบอกว่าตายหมดแล้ว โยมจึงถามอีกว่า จะให้ผมทำอย่างไร คำนี้ไม่ควรถามเลย ก็เห็นเต็มตาอยู่แล้วว่าควรจะช่วยคนอยู่ในสภาพนี้ได้อย่างไร จึงบอกว่าควรนำอาตมาเข้าฝั่ง เขาจึงมาอุ้มเราขึ้นไปเรือลำใหม่ เขาเล่าว่าทั้งตัวดำหมด เพราะระบบการหายใจไม่ปกติ จึงทำให้การไหลเวียนของโลหิตผิดปกติ เนื่องจากมีน้ำเข้าไปท่วมปอดอยู่มาก เมื่อพายเรือเข้าฝั่งประมาณ ๒ เส้น จึงอาเจียน มีแต่น้ำออกมาออกทั้งปากทั้งจมูก ประมาณ ๒ กาน้ำ จึงทำให้ท้องแฟบลงเล็กน้อยแต่ก็มีอาการแน่นท้องอยู่ นึกอยู่ว่ายังไม่พ้นตายอยู่นั่นเอง เมื่อใกล้จะถึงฝั่งก็อาเจียนอีก คราวนี้ออกมาทั้งน้ำทั้งเศษอาหารอ่อนๆ สีดำพร้อมกันจนหมดท้อง คราวนี้รู้สึกโล่งอกหายใจโล่ง คิดว่าไม่ตายแล้วคราวนี้ แต่ก็สลบไปเลย
เมื่อถึงฝั่งโยมเขาอุ้มไปพักอยู่ที่เถียงนา (กระต๊อบ) นอนอยู่นานเท่าไหร่ไม่ทราบ ฟื้นตื่นขึ้นเห็นผ้านุ่งที่เป็นผ้าอังสะเขาเปลือยออก เอาผ้าขาวม้าของโยมมานุ่งแทนไว้ เขาได้ให้คนหนึ่งไปแจ้งกำนันที่บ้านต้อง ซึ่งตั้งอยู่ใต้โขงหลงด้านตะวันตก อีกคนหนึ่งให้กลับไปออกชาวบ้านดอนกลาง บ้านโพธิ์หมากแข้งโนนหนามแท่น ส่วนอาตมาได้ถูกนำลงเรือพากลับบ้านดอนกลาง เมื่อชาวบ้านต่างๆ มาถึงที่เรือล่ม ต่างก็ช่วยกันงมหาหลายวิธี นานประมาณ ๓ ชั่วโมง ก็ไม่พบ วันที่ ๒ ทั้งหมู่บ้านต่างๆ เป็นร้อยสองร้อยมาทำทุกอย่าง หมดทั้งวันก็ไม่พบ ทั้งนี้เพราะใต้พื้นน้ำมีโคลนตมอ่อนๆ ยุ่ยๆ เมื่อคนลงไปเหยียบจะยืนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ลึกลงไปอีกจนถึงโคนขาโน่นแหละ จึงยืนอยู่ได้ น้ำในบริเวณนั้นลึกประมาณ ๘-๙ ศอกที่ชาวบ้านค้นศพไม่พบก็เพราะว่าศพจมลงไปนอนอยู่พื้นโคลนตมเหลวนั่นเอง ต่อเมื่อวันที่ ๓ จึงเห็นศพลอยขึ้นมาตรงกลางบึงโขงหลงนั่นเอง จึงเก็บเอาขึ้นมา ทำหีบเป็นขอนซุงทั้งต้นได้ ๓ ซุงบรรจุศพลงนั้นเก็บที่สมควร ส่วนตัวอาตมาที่เฉียดตายนั้นฉันอาหารไม่ได้ เพราะเมื่อได้กลิ่นอาหารแล้วมันอาเจียน ต้องดื่มน้ำอย่างอื่นแทน หมอประจำตำบลเอายาแคลเซียมมาฉีดเข้าเส้นให้ เมื่อดึงเข็มออกและมีเลือดออกมา เห็นเลือดเป็นสีจางมาก เหมือนกับน้ำล้างเนื้อ มีสีขาวซีดทั้งตัว สามวันจึงฉันอาหารได้ แล้วก็เข้าสู่สภาพปกติ


ด้วยอำนาจแห่งกรรม
 
                เรื่องนี้ถ้าไม่เล่าไว้ก็จะขาดประวัติของชีวิตคราวหนึ่งนี้ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ควรคิดว่าอำนาจของกรรมเป็นความจริงตลอดเวลา ถ้าไม่คิดกรรมดลบันดาลแล้วจะไปคิดอย่างไรได้ การอยากไปอาบน้ำที่บึงโขงหลง ถ้าจะอาบอยู่วัดก็มีน้ำไม่อดไม่อยาก จะอาบเท่าไรก็ได้
 
ให้มาสร้างทางไปก่อนตาย

                 และอีกประการหนึ่ง การที่มองเห็นภาพศาลาการเปรียญลอยอยู่บนอากาศนั้น เป็นความจริงที่กล่าวไว้ในคำสอนของพระศาสนาว่า เวลาคนจะตายจิตกำลังออกจากร่างนั้น จะปรากฏให้ผู้ตายเห็นภาพทั้งฝ่ายดีฝ่ายไม่ดี ในฝ่ายดีคือผู้ที่ได้ทำบุญไว้มาก่อนแล้วย่อมจะมีสุคตินิมิต ให้ผู้นั้นเห็น เช่น เห็นปราสาทอันงดงามเห็นพระพุทธรูป เห็นราชรถมาคอยรอรับ เห็นภาชนะที่ใส่ของทำบุญ เช่นขันข้าวใส่บาตร เป็นต้น เมื่อเห็นภาพอย่างนี้เชื่อว่าเป็นทางดี ได้ไปสู้สุคติโลกสวรรค์แน่นอน ส่วนฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายบาป จะปรากฏให้ผู้มีบาปได้เห็นภาพฝ่ายไม่ดี ที่เรียกว่ากรรมนิมิต จะให้เห็นมีตำรวจหรือทหารถืออาวุธคอยจ้องผู้นั้นอยู่หรือเห็นไฟลุกโพลงบ้าง หรือเห็นภาพของตนที่เคยทำบาปปรากฏให้เห็น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีหวังว่าจะให้ไปสู่ทุกคติทางไม่ดี มีตกนรก เป็นต้น ภาพที่อาตมาได้เห็นจึงเป็นการรับรองว่า พระธรรมคำสอนนั้นเป็นความจริงแน่นอน
 
ตกน้ำไม่ตาย (อานิสงส์เกิด)

              ครั้งที่ไปตกน้ำแล้วไม่ตาย ก็มาคิดถึงอานิสงส์ที่ทำไว้ก็นึกได้ว่าช่วงที่ออกพรรษาแล้วได้พาเณรไปตัดไม้เพื่อเอามาทำไม้จิ้มฟัน ก็ไปที่โคก เดินไปประมาณ ๒ กิโลเมตร จากที่วัดนี้ไป ตอนนั้นไร่นาเขาก็เกี่ยวข้าวกันแล้วน้ำก็แห้ง ไปเจอปลาซิวประมาณ ๑๐ ตัวมันจะตายอยู่แล้วถ้าน้ำแห้งหมด ก็เลยให้เณรหาใบไม้มาทำเป็นถุง แล้วก็เอาปลาซิวใส่เอาน้ำเลี้ยงไว้แล้วก็นำไปปล่อยในอ่าง อานิสงส์นี้คือดีใจที่สุดพอปล่อยลงน้ำแล้วมันก็มุดลงไปในน้ำแล้วก็ขึ้นมาดูเราอีก เหมือนจะขอบคุณหรืออะไรทำนองนั้นแหละ แล้วก็มุดน้ำไปเลย นี่คงเป็นอานิสงส์ที่ไปตกน้ำแล้วไม่ตาย
             สุดท้ายขอฝากธรรมะสั้นๆ จากหลวงปู่ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา การรู้จักบุญคุณและการตอบแทนคุณเป็นเครื่องหมายของคนดี”

ธรรมะโอวาท สมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)



ธรรมะโอวาท สมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)
"ให้เว้นชั่ว ทำดี ทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ และเมื่อกล่าวโดยหลักปฏิบัติก็คือ สอนให้ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อผลคือประโยชน์สุขของพหูชน หรือเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกทั้งมวล ฉะนั้น เนื่องในอภิลักขิตกาลครบ 26 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วไป จึงใคร่ขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้รำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้ทรงพระกรุณาสั่งสอนไว้ดังกล่าวข้างต้น น้อมนำเข้ามาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแนะนำเผยแผ่ไปยังชาวโลกให้กว้างขวางยิ่งๆขึ้น เพื่อศานติสุขของมวลมนุษยชาติตลอดไป ก็จะได้ชื่อว่าได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง 26 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญกุศล อำนวยให้ทุกท่านเจริญด้วยสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลตลอดไปโดยทั่วกัน"

ธรรม หลวงปู่ขาว อนาลโย





โอวาทธรรม หลวงปู่ขาว อนาลโย
"สนิมเกิดจากเหล็กย่อมกัดเหล็กฉันใด
ความชั่วเมื่อเกิดแล้วย่อมทำลายตัวเอง"

พึงละ “ธรรมดำ”
เจริญ “ธรรมขาว”
คือจิตใจสะอาด
ปราศจากกิเลส

พระธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม



พระธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม
"ผู้ใดเข้าถึงหรือมีคุณาการ (บ่อรวมความดี) ตามอย่างพระองค์ก็จะเป้นผู้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายได้จริงการภาวนาพระคาถาของพระองค์จะต้องกระทำประกอบพร้ององค์ 3 คือ กาย วาจา และ ใจ โน้มน้าวไปตาม ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (ความประพฤติดีงามตามสถานะ) จึงจะเกิด ธรรมสาระคุณ (คุณในแก่นแห่งธรรม) คือบรรลุถึง “วิปัสสนาปัญญา” เช่น

1. คุณในปัญญา
2. คุณในสันติ และ
3. คุณในเมตตากรุณา

พระองค์เป็นแต่ผู้ให้ คุโณปการ (การอุดหนุนทำให้คุณงามความดีต่าง ๆ) ชี้ทางและเตือนใจให้สร้างคุณธรรมนั้น ๆ ขึ้น
อนึ่งในลัทธิมหายาน มักจะมีอรรถข้อความเรียกว่า กลบท หรือ ธรรมปริศนา ไว้ให้ขบคิดเอาเอง ถ้าขบคิดไม่ตก ก็แปลว่ายังค้นหาช่องทางไม่ถูกเข้ายังไม่ถึงหรือว่ายังมองไม่ทะลุ ธรรมบท นั้น ๆ ถ้าขบคิดแตกก็หมายถึงแล้วซึ่งความสว่าง ดังในพระสูตรกล่าว"

ธรรมะของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี





ธรรมะของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
"เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ"

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล




วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก  [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการปฏิบัติสมถสมาธิ  ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันได้ ในช่วงว่างๆ ใจสงบ สบาย แค่ไม่ซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆนาๆ  หรือถ้าต้องการใช้สมาธิก็ใช้ระดับขณิกสมาธิก็พอเพียงแล้ว การใช้สมาธิที่ลึกละเอียดมักจะทำให้เกิดภวังค์และนิมิต เลื่อนไหลไปท่องเที่ยวอยู่ในจิตภายในอันเป็นปฏิปักษ์กับการเจริญวิปัสสนานี้]
        ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว
[มีสติแค่รู้อยู่อย่างสบายๆ  แต่ก็ไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น  ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา  เพราะธรรมชาติของจิตปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมักจะส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงแต่งตามสิ่งที่มาผัสสะผ่านทางอายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]
        รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ  อย่าบังคับ  อย่าพยายาม  อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม
[คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิตเช่นความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป  และระวังอาการจิตที่เรียกว่าจิตส่งใน]
        เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ  [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ   หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา  [จึงหมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล  และจะเกิดอย่างนี้เป็นประจำเสมอๆ แต่อย่าท้อแท้เพราะเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง]สำหรับผู้ฝึกใหม่  ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง [ทำดังนี้ให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง]  เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่[มีสติ] และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ  หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ  กับ  จิตขณะปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะจึงย่อมเกิดเวทนาต่างๆเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงย่อมเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน  อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้หยั่งรู้ได้ด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]
        จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป [มีสติ  รักษาสติอย่าให้เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานที่ลึกละเอียดประณีต  เพราะ ณ ขณะนี้เป็นการฝึกสติให้เห็นจิต อย่างต่อเนื่อง มิใช่การมุ่งเน้นทำสมถสมาธิ แต่เป็นการมุ่งเน้นวิปัสสนา] ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของจิต อีกเช่นเดิม เพราะย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆทีเดียวเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อเกิดขึ้น  แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวหรือมีสตินั้น  ต้องอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นอีกด้วย]
        ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการวิปัสสนา ที่ไม่ได้มุ่งหวังในความสงบสุขสบายแต่อย่างใด] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" [กริยา อาการ และการกระทำของจิต]โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา  แต่เป็น สังขารที่เกิดแต่วิชชาที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]
        ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป  [เพราะการปฏิบัติขณะจิตฟุ้งด้วยกำลังแรงกล้า ก็จะไม่บังเกิดผลเพราะใจที่ซัดส่ายและเพราะขาดความชำนาญ หรือขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขั้นต้น  ดังนั้นเมื่อไม่เห็นผลได้ด้วยตนเองก็ย่อมเกิดความท้อแท้ หรือวิจิกิจฉาว่าไม่ถูกต้อง อันย่อมบั่นทอนความเชื่อความเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆไป]
[ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้แล้วและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ อาจข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]
        ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต
        พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธินั่นเอง]
        ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว
        เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้
        ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที
        เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง
        ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]
        การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป
        แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
        ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ
        เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย [แต่ก็ต้องนุ่มนวล ไม่ตึงเครียดจนเกิดอาการต่างๆ]
        เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย
        เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง,รูป,เสียง ฯ.] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ
[คำบริกรรม  พุทโธ  ก็คือ จิตสังขารหรือสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)อันเกิดแต่จิต หรือความคิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบริกรรมภาวนาอย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปคิดปรุงหรือเลื่อนไหลลงภวังค์ จึงเท่ากับเป็นการฝึกจิตหรือสติโดยตรง ให้เห็นจิต หรือจิตตสังขาร หรืออาการของจิตบางประการ-เจตสิก]
        บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง  สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

 ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้ แล้วละไปเท่านั้น  เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)
[จิตปรุงกิเลส คืออาการที่จิตส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดกิเลสขึ้น , ส่วนกิเลสปรุงจิต เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอก กระทบผัสสะกับ อายตนะภายใน แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้น  หรือถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท จิตปรุงกิเลส ก็คือองค์ธรรมสังขารอันเกิดแต่อวิชชา  ส่วนกิเลสปรุงจิต ก็คืออาการที่เกิดขึ้นจากสฬายตนะ กระทบผัสสะกับ อายตนะภายนอกนั่นเอง  ดูรูปประกอบในการพิจารณา ]
        ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
[อารมณ์ในที่นี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็น จิตสังขารประเภทอาการของจิต(เจตสิก) หรือสังขารขันธ์นั่นเอง  และควรรวมเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นไว้ด้วย เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีอามิส หรือไม่มีอามิสเป็นต้น  เพราะสังขารบางอย่างนั้นสามารถเห็นเวทนาได้ชัดและรวดเร็วกว่าความคิดปรุงแต่ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้เพราะทั้ง๒ที่เห็นได้นี้ต่างล้วนถูกต้องดีงาม]
        ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก [ความคิดนึกที่ส่งออกไปปรุงแต่งอารมณ์อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จากภายนอกกาย] เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน) [เพราะในบางครั้งอาจเกิดรูปนิมิตหรือภาพผุดขึ้นในใจบ้างเป็นธรรมดา  แต่ถ้าเป็นนามนิมิตอันคือคำบริกรรมหรือความคิดความนึกที่เกิดขึ้นที่ผุดขึ้นก็อย่าใส่ใจ ให้ละกลับไปอยู่ที่สติหรือฐานกำหนดเดิม]
        ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก [ออกไปความคิดนึกปรุงแต่ง] สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖
        ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป  เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ [ความคิด,ความนึก]ต่างๆ  อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์
[ว่างจากสิ่งที่ไปกำหนดยึดหมาย เช่น ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส] แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ  [จิตเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย  ไม่ได้หมายถึงการแยกกาย ออกจากจิตโดยการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ โดยตรง  แต่หมายความว่ากระทำหรือปฏิบัติจน จิตเป็นอิสระว่างจากอารมณ์ คือว่างจากสิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยว  จึงย่อมยังผลให้ไม่เกิดการผัสสะต่างๆ  เวทนาอันต้องอาศัยการผัสสะต่างๆย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ]
        คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้   แต่ต้องอาศัยการคิด
[อันหมายถึง คิดนึกปรุงแต่งเท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์   แต่เมื่อหยุดคิดนึกปรุงแต่งอันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์นั่นแหละจึงจักรู้และพบนิโรธ   แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการเสียก่อนจึงจักเกิดสัมมาญาณอันเป็นความเข้าใจ]
        ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต [มรรคจิต-การปฏิบัติให้พ้นทุกข์ทางจิตหรือปัญญานั่นเอง คือการปฏิบัติโดยการเห็นจิต-ความคิดนึก ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือเหล่าจิตสังขารนั่นเอง อันหมายรวมถึงเวทนาอันเป็นส่วนหนึ่งของจิต  อันเป็นไปตามหลักจิตตานุปัสนา เวทนานุปัสสนา ใน สติปัฏฐาน๔ นั่นเอง] เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว [คนละส่วนหรือคนละกอง แต่ก็มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่] ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (ในจิต) อีกหรือไม่ พยายามให้สติสังเกตดูที่ จิต ทำความสงบอยู่ใน จิต ไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน  เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด [เป็นปรมัตถสัจจะ หรือสภาวธรรม คือเมื่อสอดส่ายออกไปปรุงแต่งก็ย่อมเกิดการกระทบผัสสะ อันย่อมยังผลให้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่กระทบนั้น] มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้ [หมายถึงการเพิกถอนอาสวะกิเลส อันละเอียดอ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต]
        คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง [ในที่นี้หมายถึงแยกให้เห็น อันมีความหมายถึงการแยกที่ใช้ความเข้าใจทางปัญญา เกี่ยวกับการทำงานของกายและจิต และต้องเข้าใจความสัมพันธ์อันเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน  หรือแยกตัวตนให้เห็นทั้งขันธ์๕ก็ได้ อันเป็นเช่นเดียวกัน  เมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นกำลังของปัญญาหรือจิตในการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมาย  หลายท่านคงเคยเห็นความคิดปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างดีแต่ไม่สามารถหยุดมันได้ก็เพราะขาดกำลังของปัญญาหรือจิตนี่เอง   จึงมิได้หมายถึงการปฏิบัติที่พยายามจะแยกกายและจิตจริงๆทางสมาธิ เช่นแยกจิตออกเป็นดวงต่างออกจากกายโดยนิมิต แบบต่างๆ(ทั้งแบบรูปนิมิต และนามนิมิต)อันเป็นความเข้าใจผิด    แต่เป็นการแยกกายและจิตด้วยปัญญา]
        ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) [หมายถึงว่างจากความคิดนึกปรุงแต่ง มิได้หมายถึงการไปยึดหมายความว่าง อันอาจก่อเป็นอรูปฌานหรือรูปละเอียดได้] ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใด ๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น
         [เมื่อเจริญจิตจนจิตว่างจากการปรุงแต่งแล้ว  ถึงอย่างไรก็ยังคงมีเหตุบางอย่างที่เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติ หรือหน้าที่อันพึงกระทำอยู่บ้าง  อันมิสามารถละเหตุนั้นได้ ก็ต้องไม่ยึดในผลหรือกรรมวิบากที่ยังคงเกิดเป็นธรรมดานั้นด้วยเช่นกัน  ดังเช่น ความเจ็บป่วย ตลอดจนเรื่องทางโลกบางประการก็เป็นเช่นนั้น  ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เหตุต้องละ  อันรวมถึงเหตุบางประการที่ยังละไม่ได้ดังที่กล่าวอันย่อมยังให้เกิดผลขึ้นบ้างเป็นธรรมดาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือกรรมวิบากนั่นเอง ก็ต้องละที่ผลนั้น  ละอันหมายถึง โดยการไม่ไปยึด ไม่ปรุงแต่งต่อจากผลกรรมนั้นอีกเช่นเดียวกัน   จึงเกิดปรากฎการณ์ที่พระอริยเจ้ากล่าวอยู่เนืองๆ ว่า " เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่  แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น " หรือเรียกว่าสภาวะ " เหนือกรรม " คือกรรมวิบากหรือผลของกรรมนั้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่เป็นทุกข์นั่นเอง]
        เรียกว่า "สมุจเฉทธรรมทั้งปวง[การตัดขาดทั้งปวง]