วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล




วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก  [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการปฏิบัติสมถสมาธิ  ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันได้ ในช่วงว่างๆ ใจสงบ สบาย แค่ไม่ซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆนาๆ  หรือถ้าต้องการใช้สมาธิก็ใช้ระดับขณิกสมาธิก็พอเพียงแล้ว การใช้สมาธิที่ลึกละเอียดมักจะทำให้เกิดภวังค์และนิมิต เลื่อนไหลไปท่องเที่ยวอยู่ในจิตภายในอันเป็นปฏิปักษ์กับการเจริญวิปัสสนานี้]
        ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว
[มีสติแค่รู้อยู่อย่างสบายๆ  แต่ก็ไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น  ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา  เพราะธรรมชาติของจิตปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมักจะส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงแต่งตามสิ่งที่มาผัสสะผ่านทางอายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]
        รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ  อย่าบังคับ  อย่าพยายาม  อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม
[คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิตเช่นความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป  และระวังอาการจิตที่เรียกว่าจิตส่งใน]
        เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ  [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ   หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา  [จึงหมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล  และจะเกิดอย่างนี้เป็นประจำเสมอๆ แต่อย่าท้อแท้เพราะเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง]สำหรับผู้ฝึกใหม่  ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง [ทำดังนี้ให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง]  เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่[มีสติ] และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ  หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ  กับ  จิตขณะปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะจึงย่อมเกิดเวทนาต่างๆเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงย่อมเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน  อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้หยั่งรู้ได้ด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]
        จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป [มีสติ  รักษาสติอย่าให้เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานที่ลึกละเอียดประณีต  เพราะ ณ ขณะนี้เป็นการฝึกสติให้เห็นจิต อย่างต่อเนื่อง มิใช่การมุ่งเน้นทำสมถสมาธิ แต่เป็นการมุ่งเน้นวิปัสสนา] ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของจิต อีกเช่นเดิม เพราะย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆทีเดียวเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อเกิดขึ้น  แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวหรือมีสตินั้น  ต้องอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นอีกด้วย]
        ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการวิปัสสนา ที่ไม่ได้มุ่งหวังในความสงบสุขสบายแต่อย่างใด] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" [กริยา อาการ และการกระทำของจิต]โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา  แต่เป็น สังขารที่เกิดแต่วิชชาที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]
        ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป  [เพราะการปฏิบัติขณะจิตฟุ้งด้วยกำลังแรงกล้า ก็จะไม่บังเกิดผลเพราะใจที่ซัดส่ายและเพราะขาดความชำนาญ หรือขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขั้นต้น  ดังนั้นเมื่อไม่เห็นผลได้ด้วยตนเองก็ย่อมเกิดความท้อแท้ หรือวิจิกิจฉาว่าไม่ถูกต้อง อันย่อมบั่นทอนความเชื่อความเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆไป]
[ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้แล้วและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ อาจข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]
        ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต
        พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธินั่นเอง]
        ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว
        เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้
        ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที
        เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง
        ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]
        การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป
        แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
        ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ
        เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย [แต่ก็ต้องนุ่มนวล ไม่ตึงเครียดจนเกิดอาการต่างๆ]
        เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย
        เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง,รูป,เสียง ฯ.] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ
[คำบริกรรม  พุทโธ  ก็คือ จิตสังขารหรือสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)อันเกิดแต่จิต หรือความคิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบริกรรมภาวนาอย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปคิดปรุงหรือเลื่อนไหลลงภวังค์ จึงเท่ากับเป็นการฝึกจิตหรือสติโดยตรง ให้เห็นจิต หรือจิตตสังขาร หรืออาการของจิตบางประการ-เจตสิก]
        บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง  สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

 ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้ แล้วละไปเท่านั้น  เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)
[จิตปรุงกิเลส คืออาการที่จิตส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดกิเลสขึ้น , ส่วนกิเลสปรุงจิต เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอก กระทบผัสสะกับ อายตนะภายใน แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้น  หรือถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท จิตปรุงกิเลส ก็คือองค์ธรรมสังขารอันเกิดแต่อวิชชา  ส่วนกิเลสปรุงจิต ก็คืออาการที่เกิดขึ้นจากสฬายตนะ กระทบผัสสะกับ อายตนะภายนอกนั่นเอง  ดูรูปประกอบในการพิจารณา ]
        ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
[อารมณ์ในที่นี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็น จิตสังขารประเภทอาการของจิต(เจตสิก) หรือสังขารขันธ์นั่นเอง  และควรรวมเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นไว้ด้วย เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีอามิส หรือไม่มีอามิสเป็นต้น  เพราะสังขารบางอย่างนั้นสามารถเห็นเวทนาได้ชัดและรวดเร็วกว่าความคิดปรุงแต่ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้เพราะทั้ง๒ที่เห็นได้นี้ต่างล้วนถูกต้องดีงาม]
        ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก [ความคิดนึกที่ส่งออกไปปรุงแต่งอารมณ์อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จากภายนอกกาย] เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน) [เพราะในบางครั้งอาจเกิดรูปนิมิตหรือภาพผุดขึ้นในใจบ้างเป็นธรรมดา  แต่ถ้าเป็นนามนิมิตอันคือคำบริกรรมหรือความคิดความนึกที่เกิดขึ้นที่ผุดขึ้นก็อย่าใส่ใจ ให้ละกลับไปอยู่ที่สติหรือฐานกำหนดเดิม]
        ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก [ออกไปความคิดนึกปรุงแต่ง] สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖
        ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป  เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ [ความคิด,ความนึก]ต่างๆ  อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์
[ว่างจากสิ่งที่ไปกำหนดยึดหมาย เช่น ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส] แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ  [จิตเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย  ไม่ได้หมายถึงการแยกกาย ออกจากจิตโดยการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ โดยตรง  แต่หมายความว่ากระทำหรือปฏิบัติจน จิตเป็นอิสระว่างจากอารมณ์ คือว่างจากสิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยว  จึงย่อมยังผลให้ไม่เกิดการผัสสะต่างๆ  เวทนาอันต้องอาศัยการผัสสะต่างๆย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ]
        คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้   แต่ต้องอาศัยการคิด
[อันหมายถึง คิดนึกปรุงแต่งเท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์   แต่เมื่อหยุดคิดนึกปรุงแต่งอันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์นั่นแหละจึงจักรู้และพบนิโรธ   แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการเสียก่อนจึงจักเกิดสัมมาญาณอันเป็นความเข้าใจ]
        ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต [มรรคจิต-การปฏิบัติให้พ้นทุกข์ทางจิตหรือปัญญานั่นเอง คือการปฏิบัติโดยการเห็นจิต-ความคิดนึก ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือเหล่าจิตสังขารนั่นเอง อันหมายรวมถึงเวทนาอันเป็นส่วนหนึ่งของจิต  อันเป็นไปตามหลักจิตตานุปัสนา เวทนานุปัสสนา ใน สติปัฏฐาน๔ นั่นเอง] เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว [คนละส่วนหรือคนละกอง แต่ก็มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่] ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (ในจิต) อีกหรือไม่ พยายามให้สติสังเกตดูที่ จิต ทำความสงบอยู่ใน จิต ไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน  เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด [เป็นปรมัตถสัจจะ หรือสภาวธรรม คือเมื่อสอดส่ายออกไปปรุงแต่งก็ย่อมเกิดการกระทบผัสสะ อันย่อมยังผลให้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่กระทบนั้น] มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้ [หมายถึงการเพิกถอนอาสวะกิเลส อันละเอียดอ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต]
        คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง [ในที่นี้หมายถึงแยกให้เห็น อันมีความหมายถึงการแยกที่ใช้ความเข้าใจทางปัญญา เกี่ยวกับการทำงานของกายและจิต และต้องเข้าใจความสัมพันธ์อันเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน  หรือแยกตัวตนให้เห็นทั้งขันธ์๕ก็ได้ อันเป็นเช่นเดียวกัน  เมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นกำลังของปัญญาหรือจิตในการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมาย  หลายท่านคงเคยเห็นความคิดปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างดีแต่ไม่สามารถหยุดมันได้ก็เพราะขาดกำลังของปัญญาหรือจิตนี่เอง   จึงมิได้หมายถึงการปฏิบัติที่พยายามจะแยกกายและจิตจริงๆทางสมาธิ เช่นแยกจิตออกเป็นดวงต่างออกจากกายโดยนิมิต แบบต่างๆ(ทั้งแบบรูปนิมิต และนามนิมิต)อันเป็นความเข้าใจผิด    แต่เป็นการแยกกายและจิตด้วยปัญญา]
        ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) [หมายถึงว่างจากความคิดนึกปรุงแต่ง มิได้หมายถึงการไปยึดหมายความว่าง อันอาจก่อเป็นอรูปฌานหรือรูปละเอียดได้] ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใด ๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น
         [เมื่อเจริญจิตจนจิตว่างจากการปรุงแต่งแล้ว  ถึงอย่างไรก็ยังคงมีเหตุบางอย่างที่เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติ หรือหน้าที่อันพึงกระทำอยู่บ้าง  อันมิสามารถละเหตุนั้นได้ ก็ต้องไม่ยึดในผลหรือกรรมวิบากที่ยังคงเกิดเป็นธรรมดานั้นด้วยเช่นกัน  ดังเช่น ความเจ็บป่วย ตลอดจนเรื่องทางโลกบางประการก็เป็นเช่นนั้น  ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เหตุต้องละ  อันรวมถึงเหตุบางประการที่ยังละไม่ได้ดังที่กล่าวอันย่อมยังให้เกิดผลขึ้นบ้างเป็นธรรมดาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือกรรมวิบากนั่นเอง ก็ต้องละที่ผลนั้น  ละอันหมายถึง โดยการไม่ไปยึด ไม่ปรุงแต่งต่อจากผลกรรมนั้นอีกเช่นเดียวกัน   จึงเกิดปรากฎการณ์ที่พระอริยเจ้ากล่าวอยู่เนืองๆ ว่า " เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่  แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น " หรือเรียกว่าสภาวะ " เหนือกรรม " คือกรรมวิบากหรือผลของกรรมนั้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่เป็นทุกข์นั่นเอง]
        เรียกว่า "สมุจเฉทธรรมทั้งปวง[การตัดขาดทั้งปวง]

1 ความคิดเห็น:

  1. http://jitarsakhondthamdee.blogspot.com/
    กราบนมัสการ ขออนุโมทนา สาธุการ ยินดีที่ได้เจอเว็ปคนบุญครับ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุโมทนาในครั้งนี้ด้วยครับ

    ตอบลบ